พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำบางปะกง



ขอบเขตและที่ตั้ง
        พื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำบางปะกง ครอบคลุมพื้นที่กิ่งอำเภอคลองเขื่อน อำเภอบางคล้า อำเภอบางปะกง อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพานทอง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี และอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ มีพื้นที่คำนวณได้ตามระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ มีพื้นที่รวมทั้งหมด 126,838 ไร่
สถานภาพทางกายภาพ
        ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำบางปะกง มีลักษณะเป็นแม่น้ำสายสำคัญในจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความยาวประมาณ 231 กิโลเมตร และมีความกว้างในช่วงที่ไหลผ่านเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราประมาณ 120 เมตร แม่น้ำบางปะกง เกิดจากการรวมตัวกันของแม่น้ำนครนายกกับแม่น้ำปราจีนบุรีที่ไหลมาบรรจบกันที่บริเวณตําบลบางแตน อําเภอบ้านสร้าง จังหวัดฉะเชิงเทรา ไหลผ่านมาจากทิศเหนือผ่านที่ราบต่ำ ตอนกลางและไหลผ่านตอนล่างลงสู่ทิศใต้และออกสู่อ่าวไทยที่ตําบลปากม้า อําเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ลําน้ำสาขาที่สําคัญ ได้แก่ แม่น้ำนครนายก และคลองท่าลาด
        ระบบนิเวศของพื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกง เป็นบริเวณที่น้ำจืดและน้ำเค็มผสมกัน โดยมีอิทธิพลของกระแสน้ำขึ้นลงเป็นปัจจัยสำคัญต่อลักษณะทางกายภาพและชีววิทยา และจัดเป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร ที่วางไข่และอนุบาลตัวอ่อนให้กับสัตว์น้ำนานาชนิด เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของโลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris) บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง เป็นแหล่งทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์และมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ มีการใช้ประโยชน์ทั้งการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การคมนาคมทางน้ำ การท่องเที่ยว และเป็นแหล่งทำการประมง ทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำประมงชายฝั่งที่สำคัญ
        คุณภาพน้ำภายในพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี และจัดอยู่ในมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน และเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ การประมง และการว่ายน้ำและกีฬาทางน้ำ

สถานภาพทางชีวภาพ
        ทรัพยากรป่าไม้   พบพรรณไม้รวม 258 ชนิด จาก 205 สกุล 75 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก 23 ชนิด เช่น มะม่วง Mangifera indica L. ลำดวน Melodorum fruticosum Lour. ชมพูพันธุ์ทิพย์ Tabebuia rosea (Bertol.) DC. หูกวาง Terminalia catappa L. หูกระจง T. ivoriensis A.Chev. ยางนา Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don ตะเคียนทอง Hopea odorata Roxb. สัก Tectona grandis L.f. ราชพฤกษ์ Cassia fistula L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. และประดู่บ้าน Pterocarpus indica Willd.
        พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ 2 ชนิด ได้แก่ นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders และจิกเล Barringtonia asiatica (L.) Kurz
        พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 ได้แก่ สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบยักษ์ Mimosa pigra L. จอก Pistia stratiotes L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. สาหร่ายหางกระรอก Hydrilla verticillata (L.f.) Royle และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 ได้แก่ ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.

        ทรัพยากรสัตว์ป่า    พบสัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 4 ชนิด สัตว์จำพวกนก 6 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลาน 5 ชนิด เช่น ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง (Pteropus lylei) นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata) โลมาปากขวด (Tursiops aduncus) โลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris) นกชายเลนปากช้อน (Eurynorhynchus pygmeus) นกจับแมลงป่าชายเลน (Cyornis rufigastra) นกกาบบัว (Mycteria leucocephala) จระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) เต่าบัว (Hieremys annandalii) ตะพาบน้ำ (Amyda cartilaginea)

        ทรัพยากรปลา    พบปลาทั้งสิ้น 178 ชนิด จาก 53 วงศ์ โดยเป็นชนิดที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN-Endangered species) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ปลาตะโกกหน้าสั้น Albulichthys albuloides และปลาสวาย Pangasianodon hypophthalmus ชนิดที่สิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ ปลาหางไก่ Coilia lindmani ปลาแมวเขี้ยวยาว Lycothrissa crocodilus ปลาดุกอุย Clarias macrocephalus ปลากดหัวกบ Batrachocephalus mino ปลากดหัวลิง Ketengus typus Bleeker ปลากดหัวเสียม Osteogeneiosus militaris และปลาสังกะวัง Pangasius polyuranodon และพบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว 3 ชนิด คือ ปลากดเกราะ Hypostomus plecostomus ปลาหมอเทศ Oreochromis mossambicus) และปลานิล Oreochromis niloticus และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน 1 ชนิด คือ ปลาเปคูแดง Piaractus brachypomus

        ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน    พบสัตว์หน้าดินทั้งสิ้น 18 ชนิด จาก 3 ไฟลัม 6 ชั้น 8 อันดับ 12 วงศ์ มีปริมาณความชุกชุมของสัตว์หน้าดินเฉลี่ย 953 ตัวต่อตารางเมตร ไฟลัม Arthropoda มีปริมาณความชุกชุมมากที่สุด รองลงมา คือ ไฟลัม Annelida และไฟลัม Mollusca มีปริมาณความชุกชุมน้อยที่สุด
คุณค่าการใช้ประโยชน์
        แม่น้ำบางปะกงมีคุณค่าความสำคัญด้านการใช้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค เป็นแหล่งน้ำเพื่อการทำการเกษตรกรรม เช่น ทำนา สวนไม้ผลผสม และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ทั้งในแหล่งธรรมชาติและบ่อดิน) เป็นแหล่งอาหารเพื่อการดำรงชีพของคนในชุมชน และเป็นแหล่งท่องเที่ยว/พักผ่อน เช่น กิจกรรมดูปลาโลมาในช่วงฤดูหนาว
        ชุมชนโดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีอาชีพเกษตรกรรม ได้พึ่งพาอาศัยธรรมชาติเป็นบางส่วน วิถีการผลิตได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีจากภายนอก พื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ครัวเรือน 2,089 ครัวที่ได้รับประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจของการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำเท่ากับ 19.20 ล้านบาท/ปี

การจัดการและการคุกคาม
        การบริหารจัดการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ ได้แก่ กรมเจ้าท่า สำนักงานประมงจังหวัด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตำบล/ เทศบาลตำบล) โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ในรูปแบบการดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อช่วยกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลน ให้เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อน ให้มีที่อยู่และขยายพันธุ์สัตว์น้ำบริเวณป่าชายเลน โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลมาอิรวดี ที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญในความสมบูรณ์ของป่าชายเลนให้ได้มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งป่าชายเลนทำหน้าที่เป็นเขื่อนป้องกันคลื่นลมจากทะเล ช่วยป้องกันความรุนแรงของพายุ และทำหน้าที่ดักกรองสารปฏิกูลสารมลพิษและโลหะไม่ให้ลงสู่ทะเลอีกด้วย
        การคุกคามพื้นที่แม่น้ำบางปะกง พบว่าบริเวณโดยรอบแม่น้ำบางปะกงมีการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากภาคเกษตรกรรมไปเป็นอุตสาหกรรม การสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแม่น้ำ การทิ้งขยะตามบ้านเรือนและแม่น้ำ การปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นละอองจากโรงงานอุตสาหกรรม การชะล้างสารเคมี ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยในพื้นที่เกษตรกรรมลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำบางปะกงและปริมาณสัตว์น้ำในแหล่งน้ำลดลง และบางชนิด (ปูก้ามดาบ ปลาตีน) สูญหายไปจากพื้นที่ การตื้นเขินบริเวณปากแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีการคุกคามของชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่น เช่น ผักตบชวา ในแหล่งน้ำจืด
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์   Click