บทที่ 1 บทนำ


ความเป็นมาของโครงการ
        พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์พืช และสัตว์แม้ว่าในปัจจุบันปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการสูญหายและความเสื่อมโทรมของพื้นที่ชุ่มน้ำ คือการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินของมนุษย์แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น ทำให้สถานการณ์ของชนิดพันธุ์และระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ มีความเปราะบางเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงและสูญหายของระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำในศตวรรษนี้และจะส่งผลให้ปัจจัยอื่นๆ มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีลักษณะเป็นบึงน้ำจืดในอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะปี 2554และ 2557 ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆเนื่องจากพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแหล่งรองรับน้ำและกักเก็บน้ำ ถูกบุกรุก ทำลาย หรือพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ เช่น เป็นพื้นที่เกษตรกรรม อุตสาหกรรมและพัฒนาชุมชนเมืองปัญหาดังกล่าวนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและมีแนวโน้มจะเข้าสู่ขั้นวิกฤต โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่เป็นประจำในทุกๆปี อันมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากมีการเปลี่ยนแปลงการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือเกิดความเสื่อมโทรมจนไม่สามารถให้บริการของระบบนิเวศและใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำได้

         ประเทศไทยได้มีการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานในระดับนานาชาติ คือ การเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำหรืออนุสัญญาแรมซาร์ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างรัฐบาล ซึ่งกำหนดกรอบการทำงานสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลกโดยสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและยั่งยืนประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ในลำดับที่ 110 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2541 รวมถึงการเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญของประเทศไทยเข้าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ในทะเบียนรายนามของอนุสัญญาฯ ปัจจุบันประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียน พื้นที่แรมซาร์ไซต์ จำนวน 14 แห่ง สำหรับการดำเนินงานในระดับชาติ ประเทศไทยได้มีการศึกษาสำรวจสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วประเทศ ในปี 2539 เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย ซึ่งจากผลการศึกษาดังกล่าว ก่อให้เกิดมติคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นกรอบนโยบายและการดำเนินงานภายในประเทศ ได้แก่
        1) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่
ชุ่มน้ำ
        2) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับ
นานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ
        3) มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่
1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำข้อ 10

           นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำนโยบายและแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา เพื่อเป็นการส่งเสริมการดูแลรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำให้สามารถเกื้อกูลประโยชน์ต่อสรรพชีวิตปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 - 2558 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อ ดำเนินโครงการจัดการระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญเพื่อปรับตัวและรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทยซึ่งผลจากการดำเนินโครงการทั้งสองครั้ง ทำให้ได้แนวทางสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ หรือ พื้นที่แรมซาร์ไซต์ ตลอดจนพื้นที่มีศักยภาพในการเสนอบรรจุไว้ในทะเบียนพื้นที่แรมซาร์ไซต์ของอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการเสนอขึ้นทะเบียน รวมถึงการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานตามมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ของหน่วยงานต่าง ๆพร้อมข้อเสนอแนะซึ่งจะนำไปสู่การทบทวน ปรับปรุงทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของประเทศไทย และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และส่งเสริมให้นำไปบังคับใช้และปฏิบัติมากขึ้น
           ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 12 เมื่อปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีได้เสนอร่างข้อมติที่ XII.15 เรื่อง การประเมินประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์(Ramsar site Management Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT) ซึ่งภาคีอนุสัญญาฯ ได้ให้การรับรองข้อมติดังกล่าว และสนับสนุนให้ภาคีอนุสัญญาฯ ใช้เครื่องมือข้างต้นเพื่อประกอบการจัดทำรายงานแห่งชาติสำหรับเสนอในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 13
             ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำของ
ประเทศไทย จึงเห็นควรดำเนินการประเมินประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ของประเทศไทย รวมถึงการขยายผลไปในพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ในอนาคต เพื่อนำผลที่ได้จากการศึกษา ทบทวนไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์ เช่น ข้อมูลสำหรับจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์ และผลักดันไปสู่การปฏิบัติถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการจัดทำรายงานแห่งชาติต่อไป ซึ่งเป็นการดำเนินงานสอดคล้องตาม (ร่าง) กรอบแนวคิดและทิศทางของแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560- 2564 ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและเป็นธรรม ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง คือ การพัฒนากลไกการอนุรักษ์พื้นที่ที่มีความสำคัญพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามและพื้นที่ที่มีความเปราะบางเชิงนิเวศเพื่อลดอัตราการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมให้สามารถดำรงไว้ซึ่งความสามารถในการให้บริการของระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์
         1) เพื่อทบทวนสถานภาพ และประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์ ทั้ง 14 แห่ง ของประเทศไทยและเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีศักยภาพในการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ อย่างน้อย 2 แห่ง
             2) เพื่อจัดทำแผนการจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์ของประเทศไทยทั้งปัจจุบัน จำนวน 14 แห่ง และในอนาคตจำนวน 2 แห่ง
             3) เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษา ทบทวนไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่แรมซารไซต์ เช่น ข้อมูลสำหรับจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิ
ภาพการจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์ และผลักดันไปสู่การปฏิบัติถ่ายทอดสู่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการจัดทำรายงานแห่งชาติต่อไป
เป้าหมาย
1.เป้าหมายเชิงผลผลิต
        (1) รายงานผลการประเมินประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ไซต์ ทั้ง 14 แห่ง ของประเทศไทย ในรูปแบบสิ่งพิมพ์และไฟล์ข้อมูลซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีข้อมูลครอบคลุมประเด็น ดังต่อไปนี้
        - การวิเคราะห์ประเมินวิธีการในการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการแรมซาร์ไซต์ ทั้ง 14 แห่ง ของประเทศไทย
          - ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์
        (2) รายงานข้อมูลสถานภาพพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ในอนาคต อย่างน้อย 2 พื้นที่ ในรูปแบบสิ่งพิมพ์และไฟล์ข้อมูล ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีข้อมูลครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้
        - จำนวน เนื้อที่ ที่ตั้ง ขอบเขต พิกัดภูมิศาสตร์ ชื่อ สถานภาพทางกฎหมายของพื้นที่ ข้อมูลด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ ด้านเคมี ด้านเศรษฐกิจและสังคม ด้านการใช้ประโยชน์ สถานการณ์การคุกคาม เป็นต้น
              - Ramsar Information Sheet ของพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ในอนาคต อย่างน้อย 2 พื้นที่
            (3) ฐานข้อมูลสถานภาพทางกายภาพ ชีวภาพ ข้อมูลสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน ขอบเขต และแนวกันชนของพื้นที่แรมซาร์ไซต์ของประเทศไทย ในระบบภูมิสารสนเทศ
ให้มีความทันสมัยและเป็นปัจจุบันสำหรับใช้ประโยชน์ของหน่วยงานภายในสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้บริการข้อมูลแก่หน่วยงานและสาธารณชนทั่วไป
            (4) แผนการจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์ของประเทศไทย ทั้ง 14 แห่ง รวมทั้งแผนการจัดการพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ในอนาคต อย่างน้อย 2 พื้นที่

2.เป้าหมายเชิงพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมาย
            (1) พื้นที่ดำเนินการ
                    พื้นที่ชุ่มน้ำแรมซาร์ไซต์ทั้ง 14 แห่งของประเทศไทย และพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ในอนาคต อย่างน้อย 2 พื้นที่
            (2) กลุ่มเป้าหมาย
                    หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชน ท้องถิ่น
ขอบเขตการดำเนินงาน
ที่ปรึกษาจะต้องดำเนินการ ดังนี้
           1) รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำหรือพื้นที่คุ้มครองในรูปแบบต่างๆ ของหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเสนอเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ในอนาคต
           2) ศึกษาเปรียบเทียบวิธีการในการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ เพื่อคัดเลือกวิธีการที่เหมาะสมในการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการแรมซาร์ไซต์ โดยอย่างน้อยต้องใช้เครื่องมือ Ramsar site Management Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT ที่ได้รับการรับรองจากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 12
          3) ดำเนินการสำรวจสถานภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำในภาพรวม ด้านกายภาพ ชีวภาพ เคมี ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรอบพื้นที่ ด้านการใช้ประโยชน์ และสถานการณ์การคุกคามพื้นที่ พร้อมจัดทำขอบเขต พิกัด และแนวกันชน ของพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีศักยภาพในการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ในอนาคต อย่างน้อย 2 พื้นที่
              4) ดำเนินการสำรวจสถานภาพของพื้นที่แรมซาร์ไซต์ ทั้ง 14 แห่ง ในด้านกายภาพ ชีวภาพ การใช้ประโยชน์เพื่อประกอบการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
พื้นที่แรมซาร์ไซต์ ทั้ง 14 แห่ง ของประเทศไทย โดยใช้วิธีการที่ได้รับการคัดเลือก และ R-METT จากข้อ 1.4.2
              5) จัดประชุมระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์ ทั้ง 14 แห่ง ของประเทศไทย เพื่อแสดงความคิด
เห็นต่อผลการศึกษาในข้อ 1.4.4 และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์
          6) ดำเนินการจัดทำ Ramsar Information sheet ตามแบบฟอร์มของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ของแต่ละพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีศักยภาพในการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ในอนาคต อย่างน้อย 2 พื้นที่ เป็นภาษาอังกฤษ
              7) จัดทำแผนการจัดการพื้นที่แรมซาร์ไซต์ของประเทศไทยในปัจจุบัน จำนวน 14 แห่ง และพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีศักยภาพในการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ในอนาคต อย่าง
น้อย 2 พื้นที่
          8) จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผลการศึกษาจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 1 ครั้ง จำนวน 100 คน และนำเสนอผ่านกลไก/กระบวนการที่มีอยู่ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น คณะทำงานวิชาการพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการจัดทำรายงานการศึกษาให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วน
              9) จัดทำแผนที่แสดงขอบเขต แนวกันชน ข้อมูลด้านกายภาพ ของพื้นที่แรมซาร์ไซต์ 14 แห่ง และพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีศักยภาพในการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์ในอนาคต
อย่างน้อย 2 พื้นที่ มาตราส่วน 1:50,000 หรือละเอียดกว่าตามความเหมาะสมของพื้นที่
             10) จัดทำฐานข้อมูล ซึ่งแสดงที่ตั้ง ขอบเขต แนวกันชน สถานภาพทางกายภาพ ชีวภาพ ข้อมูลสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่แรมซาร์ไซต์ ในระบบภูมิสาร
สนเทศให้มีความทันสมัยและเป็นข้อมูลปัจจุบันโดยจัดทำตามมาตรฐานภูมิสารสนเทศกลางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
             11) จัดทำ Website เผยแพร่ข้อมูลการศึกษา ที่สามารถเชื่อมโยงกับกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม (chm-thai.onep.go.th)
คลิกเพื่อ Download File บทที่ 1 ฉบับสมบูรณ์   Click