บทที่ 2 ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง


1. พื้นที่ชุ่มน้ำ
1.1 นิยามและความหมาย
        ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (ในมาตรา 1.1 และมาตรา 2.1 ของอนุสัญญาได้ให้คำนิยามพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ว่า "พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetlands) หมายถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่ม ที่ชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำขังหรือ น้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมไปถึงชายฝั่งทะเลและที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร"

         สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2552) ได้ขยายความพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ ดังนี้"พื้นที่ซึ่งมีลักษณะจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงรวมถึง ห้วย หนอง คลอง บึง บ่อ กระพัง (ตระพัง) บาราย แม่น้ำ ลำธาร แคว ละหาน ชานคลองฝั่งน้ำ สบธาร สระ ทะเลสาบ แอ่งลุ่ม กุด ทุ่ง กว๊าน มาบ บุ่ง ทาม สนุ่น แก่ง น้ำตก หาดหิน หาดกรวด หาดทราย หาดโคลน หาดเลน ชายทะเล ชายฝั่งทะเล พืดหินปะการัง แหล่งหญ้าทะเล แหล่งสาหร่ายทะเล คุ้ง อ่าว ดินดอนสามเหลี่ยม ช่องแคบ ชะวากทะเล ตะกาด หนองน้ำกร่อย ป่าพรุ ป่าเลนป่าชายเลน ป่าโกงกาง ป่าจาก ป่าแสม รวมทั้งนาข้าว นากุ้ง นาเกลือ บ่อปลา อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น"อย่างไรก็ตามในการกำหนดแนวเขตพื้นที่ชุ่มน้ำตามโครงการจัดการระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญเพื่อการปรับตัวและรับมือจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (สผ. 2558) ได้กำหนดแนวเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำปราณบุรีและแนวเขตพื้นที่ชุ่มน้ำหาดท้ายเหมือง โดยมีแนวเขตพื้นที่ยื่นออกไปจากบริเวณชายฝั่ง ตามเขตประมงทะเลชายฝั่ง หรือเขตแหล่งทำการประมงที่อยู่ในทะเล ซึ่งมีระยะตั้งแต่ชายฝั่งทะเลออกไป 3 ไมล์ทะเล ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกินกว่าพื้นที่ในทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุด มีความลึกของระดับน้ำไม่เกิน 6 เมตร ตามนิยามของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ มาตรา 1

         นอกจากนี้การประชุมคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำในคราวการประชุมครั้งที่ 2/2557 ได้เห็นชอบในหลักการในคำนิยามของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ และให้แก้ไขคำนิยามตามความเห็นของอนุกรรมการฯ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไป ต่อมาในการประชุมคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำครั้งที 3/2557 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2557 ได้เห็นชอบนิยามของพื้นที่ชุ่มน้ำตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ และสอดคล้องกับคำนิยามของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ มาตรา 1 ดังนี้

        “พื้นที่ชุ่มน้ำหมายถึง พื้นที่แหล่งน้ำในแผ่นดินที่ทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ(1) และที่มนุษย์สร้างขึ้น(2) ที่มีลักษณะท่วมอยู่ถาวรและชั่วคราว ทั้งที่เป็นแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม รวมถึงพื้นที่ที่เป็นทะเลและชายฝั่งทะเล(3) ตลอดจน รวมถึงระบบนิเวศชายฝั่งและหมู่เกาะซึ่งล้อมรอบด้วยระบบนิเวศที่มีความเชื่อมโยงกัน” โดยมีคำบรรยายรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
          (1) พื้นที่ชุ่มน้ำในแผ่นดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Inland wetlands)ได้แก่ ห้วย หนอง คลอง บึง บ่อ กระพัง (ตระพัง) แม่น้ำ ลำธาร แคว ละหาน ชายคลอง ฝั่งน้ำ
สบธาร สระ ทะเลสาบ แอ่ง ลุ่ม กุด ทุ่ง กว๊าน มาบ ป่าบุ่ง ป่าทาม พรุ สนุ่น น้ำตก แก่ง
        (2) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น (human-made wetlands)เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ นาข้าว นาเกลือการทำการเกษตรแบบมีน้ำท่วมถึงแบบถาวรและชั่วคราว การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การทำฟาร์ม หรือคลองส่งน้ำต่างๆ
        (3) พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นทะเลและชายฝั่งทะเล (Marine/coastal wetlands)หมายถึง พื้นที่ชายฝั่งทะเลในบริเวณซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีระดับความลึกของน้ำไม่เกิน 6 เมตร และหมายรวมถึงระบบนิเวศชายฝั่งซึ่งล้อมรอบด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ หมู่เกาะ หาดหิน หาดทราย หาดโคลน หาดเลน ชายทะเล พืดหิน แนวปะการัง หญ้าทะเล คุ้ง อ่าว ดินดอนสามเหลี่ยม ชะวากทะเล ป่าเลน ป่าโกงกาง และป่าจาก เป็นต้น

1.2 พื้นที่ชุ่มน้ำของไทย
1) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ
         จากการตรวจสอบข้อมูลจาก The Secretariat of the Convention on Wetlands (2015) พบว่าประเทศไทยได้ประกาศขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar sites) หรือ แรมซาร์ไซต์ทั้งหมด 14 แห่ง มีพื้นที่รวมกัน 2,498,212.60 ไร่ ดังนี้

2) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติจำนวน 69 แห่ง
3) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ จำนวน 47 แห่ง
4) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น จำนวน 19,295 แห่ง (สผ., 2543)
2. การประเมินสถานภาพเพื่อจัดลำดับความสำคัญพื้นที่ชุ่มน้ำ
1) เกณฑ์สำหรับกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ
        ที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention) สมัยที่ 7 (พ.ศ. 2542)และสมัยที่ 9 (พ.ศ. 2548) ได้กำหนดหลักเกณฑ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศใหม่แทนการใช้หลักเกณฑ์ในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ 4 (พ.ศ. 2533) และสมัยที่ 6 (พ.ศ. 2539) ซึ่งได้รับรองเกณฑ์สำหรับกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ(Ramsar List) ดังนี้

           กลุ่ม A ของเกณฑ์พื้นที่ประกอบด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทที่เป็นตัวแทนหายากหรือมีลักษณะพิเศษเฉพาะ
        เกณฑ์ 1:พื้นที่ชุ่มน้ำหนึ่งควรได้รับพิจารณาว่ามีความสำคัญระหว่างประเทศ หากพื้นที่ชุ่มน้ำนั้นประกอบด้วยประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นตัวแทน หายาก หรือ มีลักษณะพิเศษเฉพาะซึ่งพบในเขตชีวภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม

           กลุ่ม B ของเกณฑ์พื้นที่ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย

        เกณฑ์เกี่ยวกับชนิดพันธุ์และชุมชนประชาการทางนิเวศ
           เกณฑ์ 2 : เกื้อกูล ชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ใกล้สูญพันธุ์ หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งหรือชุมนุมประชากรที่ถูกคุกคาม
           เกณฑ์ 3 : เกื้อกูล ประชากรของชนิดพันธุ์พืชหรือสัตว์ที่สำคัญ สำหรับการธำรงรักษาความหลากหลาย ทางชีวภาพของเขตชีวภูมิศาสตร์หนึ่งโดยเฉพาะ
           เกณฑ์ 4 : เกื้อกูล ชนิดพันธุ์พืชหรือสัตว์ที่อยู่ในระยะวิกฤติหนึ่งของวงจรชีวิตของชนิดพันธุ์นั้นหรือเป็นที่อพยพระหว่างสภาพเสื่อมโทรม

        เกณฑ์พิเศษเกี่ยวกับนกน้ำ
           เกณฑ์ 5 : ตามปกติเกื้อกูล นกน้ำ 20,000 ตัว หรือมากกว่า
           เกณฑ์ 6 : ตามปกติเกื้อกูล ร้อยละ 1 ของประชากรในชนิดพันธุ์หรือสายพันธุ์หนึ่งของนกน้ำ

        เกณฑ์พิเศษเกี่ยวกับปลา
           เกณฑ์ 7 : เกื้อกูล สัดส่วนที่สำคัญของสายพันธุ์ ชนิดพันธุ์ หรือวงศ์ ของปลาพื้นเมือง ระยะหนึ่งของวงจรชีวิต ปฏิสัมพันธ์ของชนิดพันธุ์ และ/หรือ ประชากรที่เป็นตัวแทนของผลประโยชน์ และ/หรือ คุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำและมีคุณูปการต่อความความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก
           เกณฑ์ 8 : เป็นแหล่งสำคัญของอาหารสำหรับปลา วางไข่ ฟูมฟักตัวอ่อนและ/หรือเส้นทางอพยพ ซึ่งปริมาณของปลาไม่ว่าภายในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือที่อื่น พึ่งพาอาศัยอยู่

        เกณฑ์พิเศษเกี่ยวกับชนิดพันธุ์อื่น
           เกณฑ์ 9:เป็นแหล่งเกื้อกูลประชากรตามปกติร้อยละ 1 ของชนิดพันธุ์หรือชนิดพันธุ์ย่อยที่เป็นชนิดพันธุ์ที่พึ่งพาอาศัยพื้นที่ชุ่มน้ำที่ไม่ใช่สัตว์จำพวกนก

2) เกณฑ์พื้นที่ชุ่มน้ำตามเกณฑ์การพิจารณาลำดับความสำคัญพื้นที่ชุ่มน้ำของไทย
        เกณฑ์สำหรับจำแนกวินิจฉัยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศภายใต้มาตรา 2 ของอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำได้รับการรับรองจากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ ณ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลียพ.ศ.2539 (ค.ศ.1996)และประเทศไทยได้ใช้เป็นแนวทางในการจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศโดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ เกณฑ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติระดับชาติ และระดับท้องถิ่นพร้อมทั้งได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำระดับต่างๆ ดังนี้

I. เกณฑ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ

        พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ ใช้เกณฑ์สำหรับจำแนกวินิจฉัยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศภายใต้มาตรา 2 ของอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำ เกณฑ์นี้ได้รับการรับรองจากการประชุมสมัชชาภาคีที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ.2539 (ค.ศ.1996) มีใจความดังต่อไปนี้

        1. เกณฑ์สำหรับประเมินคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นตัวแทนหรือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ
         พื้นที่ชุ่มน้ำจะได้รับการพิจารณาว่า มีความสำคัญระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นตัวอย่างที่ดี หรือเป็นประเภทที่แสดงลักษณะพื้นที่ชุ่มน้ำของภูมิภาคนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำจะได้รับการพิจารณาให้ได้รับ เลือกภายใต้กฎเกณฑ์
        1a) เป็นตัวอย่างของประเภทที่หายากหรือที่ไม่ธรรมดาในเขตชีวภูมิศาสตร์ที่สมควร หรือ
        1b) เป็นตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดี ซึ่งแสดงลักษณะพื้นที่ชุ่มน้ำในภูมิภาคที่สมควร หรือ
        1c) เป็นตัวแทนที่ดีของประเภททั่วไป ซึ่งพื้นที่นั้นมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ในข้อ 2 หรือ
       1d) เป็นตัวแทนของประเภทที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำรวมที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีคุณค่าระดับชาติสามารถได้รับการพิจารณาเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญระหว่างประเทศได้หากมีบทบาทสำคัญทางด้านอุทกวิทยา ชีววิทยา หรือนิเวศวิทยา ในระบบลุ่มน้ำ หรือระบบชายฝั่งทะเลระหว่างประเทศหรือ
       1e) เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศกำลังพัฒนาที่มีคุณค่าสำคัญทางด้านเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมภายใต้กรอบการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ แหล่งที่อยู่
อาศัย ทั้งนี้เนื่องจากมีบทบาทสำคัญทางอุทกวิทยา ชีววิทยา หรือนิเวศวิทยา

        2. เกณฑ์ทั่วไปสำหรับการใช้พืชหรือสัตว์ในการจำแนกวินิจฉัยพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ
         พื้นที่ชุ่มน้ำจะได้รับการพิจารณาว่ามีความสำคัญระหว่างประเทศ หาก
        2a) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ สายพันธุ์ ของพืชและสัตว์ที่หายาก มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ หรือใกล้สูญพันธุ์ หรือเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของประชากรพืชและสัตว์
ดังกล่าว มากกว่าหนึ่งชนิดพันธุ์ในจำนวนหนึ่ง หรือ
        2b) มีคุณค่าพิเศษในการดำรงความหลากหลายของพันธุกรรมและระบบนิเวศของภูมิภาค เนื่องเพราะคุณภาพและลักษณะพิเศษของพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ในพื้นที่นั้น หรือ
        2c) มีคุณค่าพิเศษในฐานะที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชหรือสัตว์ในช่วงสำคัญของวงจรชีวิต หรือ
        2d) มีคุณค่าพิเศษสำหรับชนิดหรือสังคมพืชและสัตว์เฉพาะถิ่น(endemic species)

        3. เกณฑ์เฉพาะสำหรับการใช้นกน้ำในการจำแนกวินิจฉัยพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ
         พื้นที่ชุ่มน้ำจะได้รับการพิจารณาว่ามีความสำคัญระหว่างประเทศ หาก
        3a) ตามปกติสามารถให้นกน้ำอาศัยอยู่ได้ 20,000 ตัว อยู่ได้ตลอดเวลาหรือ
        3b) ตามปกติสามารถให้นกน้ำจำนวนพอสมควรจากกลุ่มสำคัญซึ่งเป็นดัชนีแสดงคุณค่าความอุดมสมบูรณ์หรือความหลากหลายของพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ได้ตลอดเวลา หรือ
        3c) ในกรณีที่มีข้อมูลประชากรนกน้ำ ตามปกติสามารถให้นกน้ำจำนวนร้อยละ 1 ของประชากรในชนิดพันธุ์หรือสายพันธุ์หนึ่งอยู่ได้ตลอดเวลา

        4. เกณฑ์เฉพาะสำหรับการใช้พันธุ์ปลาในการจำแนกพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญ
         พื้นที่ชุ่มน้ำหนึ่งจะได้รับการพิจารณาว่ามีความสำคัญระหว่างประเทศ หาก
        4a) เป็นถิ่นที่อยู่ของสายพันธุ์ ชนิดพันธุ์ หรือวงจรชีวิต และปฏิสัมพันธ์ ของชนิดพันธุ์ของปลาพื้นบ้านในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ และ/หรือ ของประชากรปลาที่เป็นตัวแทนของพื้นที่ชุ่มน้ำ และ/หรือ คุณค่าที่เกื้อหนุนต่อความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหรือ
        4b) เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญสำหรับปลา แปล่งเพาะพันธุ์วางไข่ แหล่งอนุบาลตัวอ่อน และ/หรือ เป็นเส้นทางในการอพยพซึ่งประชากรปลาไม่ว่าภายในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือจากแหล่งน้ำอื่นๆ ต้องพึ่งพาอาศัย

II. พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ

        มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ 3 ข้อ ดังนี้
           1. เกณฑ์สำหรับประเมินความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นตัวแทนที่ดี หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะ
        พื้นที่ชุ่มน้ำหนึ่งจะได้รับการพิจารณาว่ามีความสำคัญระดับชาติ หาก
        1a) เป็นตัวอย่างหรือตัวแทนที่ดีของพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติหรือใกล้เคียงธรรมชาติประเภทใด ประเภทหนึ่ง ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศไทยหรือ
        1b) เป็นตัวอย่างที่ดีของพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทใดประเภทหนึ่งซึ่งมีคุณลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ หาได้ยากในประเทศไทยหรือ
        1c) เป็นตัวอย่างหรือเป็นตัวแทนที่ดีของพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบธรรมชาติวิทยา ชีววิทยา นิเวศวิทยา หรืออุทกวิทยา หรือ
        1d) เป็นตัวอย่างหรือตัวแทนที่ดีของพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งมีคุณค่าสำคัญต่อการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตไทยและวัฒนธรรมไทย

          2. เกณฑ์ประเมินจากพืชและสัตว์ในพื้นที่ชุ่มน้ำ
        พื้นที่ชุ่มน้ำหนึ่งจะได้รับการพิจารณาว่ามีความสำคัญระดับชาติ หาก
        2a) เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชหรือสัตว์ที่หาได้ยาก ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง หรือใกล้สูญพันธุ์ หรือมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย หรือ
        2b) มีคุณค่าพิเศษต่อการดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยหรือ
        2c) มีคุณค่าพิเศษต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์ หรือสังคมของพืช หรือสัตว์พื้นเมือง หรือมากกว่าหนึ่งชนิดของไทย

          3. เกณฑ์ที่ประเมินจากสถานภาพทางกฎหมายและการจัดการ
        พื้นที่ชุ่มน้ำหนึ่งจะได้รับการ พิจารณาว่ามีความสำคัญระดับชาติ หากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ภายในเขตพื้นที่อนุรักษ์หรือเขตพื้นที่คุ้มครองตามกฎหมายของไทย

III. พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับท้องถิ่น

        มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ 2 ข้อ ดังนี้

        1. เกณฑ์ที่ประเมินจากสถานภาพทางกฎหมายและการจัดการ
        พื้นที่ชุ่มน้ำหนึ่งจะได้รับการพิจารณาว่ามีความสำคัญระดับท้องถิ่น หากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในบัญชีรายชื่อแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ของท้องถิ่นตามมติคณะรัฐมนตรี
(7 พฤศจิกายน 2532)

        2. เกณฑ์ที่ประเมินจากความสำคัญที่มีต่อท้องถิ่น
        พื้นที่ชุ่มน้ำหนึ่งจะได้รับการพิจารณาว่ามีความสำคัญระดับท้องถิ่น หาก
        2a) มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นไทย เป็นแหล่งกำเนิดของปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เช่น เป็นแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร สมุนไพร เชื้อเพลิง พืชเส้นใย
และวัตถุดิบในการประกอบอาชีพ หรือ
        2b) มีคุณค่าทางสังคม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นบ้าน นันทนาการ ท้องถิ่น ตลอดจนเป็นเส้นทางสัญจร หรือ
        2c) มีความสำคัญต่อระบบนิเวศท้องถิ่น เช่น ช่วยป้องกันน้ำท่วม ช่วยรักษาสมดุลของภูมิอากาศเฉพาะถิ่น ช่วยรักษาคุณภาพน้ำ
3. การขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือพื้นที่แรมซาร์ไซต์
        มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ มาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ ข้อ 5 ระบุว่า “ให้นำเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (RamsarSites)” ดังนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำที่จะเสนอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่แรมซาร์ไซต์ได้จะต้องได้รับการประเมินสถานภาพและจัดลำดับความสำคัญเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติหรือระดับนานาชาติตามมติคณะรัฐมนตรีก่อน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นจำนวนมากหากมีการสำรวจอย่างครบถ้วน อาจมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่เข้าข่ายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติ รวมถึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ด้วย โดยมีกระบวนการ ดังนี้
        1) การเสนอเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญตามมติคณะรัฐมนตรี
        พื้นที่ชุ่มน้ำที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติหรือระดับชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ดังรูปที่ 2-5
        2) การเสนอพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ

        พื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นั้น ถ้าต้องการเสนอให้ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือแรมซาร์ไซต์ มีขั้นตอนการดำเนินงานดังรูปที่ 2-6

        รูปที่ 2-5 กระบวนขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติหรือระดับชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี


        รูปที่ 2-6 กระบวนขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติหรือระดับชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระหว่างประเทศ
4.การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ
        การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ในพื้นที่ชุ่มน้ำของไทย ยังไม่มีการดำเนินการมาก่อน อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามที่จะหาแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ในพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเสนอโดยประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี เรียกว่า “เครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ Ramsar Sites (Ramsar site Management Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT)” ในรายงานสรุปผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ สมัยที่ ๑๒ข้อ 4.5 การประเมินประสิทธิภาพการจัดการและการอนุรักษ์Ramsar sites เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการแรมซาร์ไซต์ ในการวางแผนแบบบูรณาการการจัดการ และระบบการประเมินเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด สอดคล้องกับเป้าหมายของแผนกลยุทธ์อนุสัญญา 2016-2024 ได้พิจารณาและให้การรับรองเครื่องมือในการประเมินประสิทธิภาพการจัดการพื้นที่ Ramsar Sites (Ramsar site Management Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT) ซึ่งภาคีอนุสัญญาฯ สามารถนำไปประยุกต์ใช้หรือดำเนินการโดยความสมัครใจ รวมถึงพิจารณานำไปใช้ประกอบการจัดทำรายงานแห่งชาติรวมถึงการรายงานสถานภาพของพื้นที่ Ramsar sitesของประเทศต่อไป ซึ่งสาระสำคัญของเครื่องมือติดตามประสิทธิภาพการบริหารจัดการแรมซาร์ไซต์(R-METT) สรุป ดังนี้
        (1) ชุดคำถามสำหรับหน่วยจัดการ เครื่องมือ METT มีการใช้งานในหลากหลายองค์กรขึ้นอยู่การสถานการณ์ของประเทศหรือภูมิภาคประกอบด้วยชุดคำถามสำหรับ
หน่วยจัดการโดยไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลศึกษาวิจัยเพิ่มเติม โดยปกติแล้ว METT ควรตอบโดยกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการหรือผู้ที่ให้ความสนใจในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำ
        (2) ข้อมูลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการ METT สำหรับแรมซาร์ไซต์ หรือ R-METT ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
            • Data Sheet 1a: ข้อมูลทั่วไปของแรมซาร์ไซต์เป็นการเก็บข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับแรมซาร์ไซต์ เช่น ชื่อ ขนาด ที่ตั้ง
            • Data Sheet 1b: การจำแนกระบุและอธิบายคุณค่าจากคำบรรยายลักษณะทางนิเวศ และ Ramsar Information Sheet เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทาง
นิเวศของแรมซาร์ไซต์ รวมทั้งการบริการของระบบนิเวศจากพื้นที่แรมซาร์ไซต์ และหลักเกณฑ์ที่ทำให้พื้นที่นั้นๆ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแรมซาร์ไซต์
            • Data Sheet 2: การเสนอเป็นพื้นที่สำคัญในระดับชาติและนานาชาติ เป็นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอเป็นพื้นที่สำคัญในระดับนานาชาติ: ได้แก่ พื้นที่มรดกโลก
ของ UNESCO พื้นที่มนุษย์และชีวมณฑล (Biosphere Reserve) และแรมซาร์ไซต์(Ramsar Site)
            • Data Sheet 3: ภัยคุกคามต่อแรมซาร์ไซต์เป็นการระบุภัยคุกคามที่สามารถเกิดขึ้นกับแรมซาร์ไซต์
            • Data Sheet 4: แบบฟอร์มการประเมิน เป็นตารางการประเมินที่ประกอบด้วยคำถาม 33 ข้อ
            • Data Sheet 5: แนวโน้มของลักษณะทางนิเวศของแรมซาร์ไซต์ (รวมทั้งการบริการของระบบนิเวศและประโยชน์ของชุมชน)4เป็นการระบุข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้ม
ของลักษณะทางนิเวศของแรมซาร์ไซต์ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการบริการของระบบนิเวศที่แรมซาร์ไซต์มอบให้ และหลักเกณฑ์ที่ทำให้พื้นที่นั้นๆ ได้รับการแต่งตั้งเป็นแรมซาร์ไซต์
        (3) Data Sheet Data Sheet1 ถึง 4 พัฒนามาจาก METT1แต่ Data Sheet 5 พัฒนามาจากการประเมินการอนุรักษ์ของ IUCN4สำหรับพื้นที่มรดกโลก ซึ่ง Data Sheet1 ถึง 4 จะมุ่งเน้นที่บริบท (Context)การวางแผน (Planning) ข้อมูล (Data) กระบวนการ (Precess) และผลลัพธ์ (Outcome)ของกระบวนการของประสิทธิภาพการบริหารจัดการ Data Sheet มุ่งเน้นที่ผลผลิต
        (4) การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ภาคีอนุสัญญาแรมซาร์ได้รับการเชื้อเชิญให้ใช้ R-METT เพื่อทำการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการของพื้นที่
ชุ่มน้ำโดยความสมัครใจ หากยังไม่ได้นำ PAME มาใช้

ตัวชี้วัดที่ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        แบ่งการประเมินออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
        (1) การประเมินการคุกคามของแรมซาร์ไซต์
        เป็นการประเมินการคุกคามที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา และ/หรือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้แบบฟอร์มภัยคุกคามที่ทำลายคุณค่าพื้นที่ แบ่งออกเป็น ระดับสูง ระดับกลาง ระดับต่ำ หรือไม่มีความเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามที่ทำลายคุณค่าพื้นที่
         ภัยคุกคามระดับสูง หมายถึง ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแรมซาร์ไซต์
         ภัยคุกคามระดับปานกลาง หมายถึงภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบด้านลบติ่มแรมซาร์ไซต์บางด้าน
         ภัยคุกคามระดับต่ำ หมายถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อแรมซาร์ไซต์มากนัก
         ไม่มีภัยคุกคาม หมายถึงไม่มีภัยคุกคามนั้นในแรมซาร์ไซต์

        โดยประเด็นที่ใช้ในการประเมินการคุกคามแบ่งออกเป็น 12 ประเด็น ดังต่อไปนี้
            • การพัฒนาที่อยู่อาศัยและการค้า
            • เกษตรกรรมและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
            • การผลิตพลังงานและการทำเหมืองแร่
            • การขนส่งและการคมนาคม
            • การใช้และทำลายทรัพยากรชีวภาพ
            • การบุกรุกและการรบกวนโดยมนุษย์
            • การเปลี่ยนแปลงระบบทางธรรมชาติ
            • การรุกรานและแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
            • มลภาวะที่นำเข้ามาและถูกสร้างขึ้น
            • เหตุการณ์ทางธรณีวิทยา
            • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง
            • การคุกคามทางวัฒนธรรมและสังคม

        (2) การประเมินการจัดการพื้นที่
        เป็นการประเมินโดยใช้แบบฟอร์มที่มีการให้คะแนนเป็น 4 ระดับ จาก 0 ถึง 3 คะแนน เพื่อให้ผู้ตอบสามารถเลือกตอบตามสถานการณ์ว่าจะยอมรับได้หรือไม่ โดย
        0 คะแนน หมายถึง งานที่เกี่ยวข้องไม่มีความก้าวหน้า
        1 คะแนน หมายถึงงานที่เกี่ยวข้องมีความก้าวหน้าบ้าง
        2 คะแนน หมายถึงงานที่เกี่ยวข้องมีความก้าวหน้าค่อนข้างดี สามารถปรับปรุงได้
        3 คะแนน หมายถึงงานที่เกี่ยวข้องมีความก้าวหน้าดีมาก
        และมีคะแนนเพิ่มเติม 1 คะแนนบางรายการการประเมิน โดยตัวชี้วัดสามารถแบ่งออกได้จำนวน 5 กลุ่ม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

        กลุ่มที่ 1 ตัวชี้วัดที่เป็นบริบทของแรมซาร์ไซต์(Context) ได้แก่ สถานภาพทางกฎหมายว่าแรมซาร์ไซต์ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการและมีผลผูกพันทาง
กฎหมายหรือไม่

        กลุ่มที่ 2 ตัวชี้วัดด้านการวางแผน (Planning)
            • กฎระเบียบสำหรับแรมซาร์ไซต์
            • วัตถุประสงค์ของแรมซาร์ไซต์
            • การออกแบบแรมซาร์ไซต์
            • แผนการบริหารจัดการ
            • การวางแผนที่ดินสำหรับอนุรักษ์ที่อยู่อาศัย
            • การวางแผนสำหรับการใช้ที่ดินและน้ำ
            • การวางแผนที่ดินสำหรับอนุรักษ์ระบบนิเวศ
            • ความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่

        กลุ่มที่ 3 ตัวชี้วัดด้านปัจจัยนำเข้ากระบวนการบริหารจัดการ (Input)
            • การบังคับใช้กฎหมาย
            • ทะเบียนทรัพยากร
            • จำนวนเจ้าหน้าที่
            • งบประมาณในปัจจุบัน
            • ความมั่นคงของงบประมาณ
            • เครื่องมือสำหรับการจัดการ
            • การเก็บค่าธรรมเนียมเข้าชมหรือค่าปรับ

        กลุ่มที่ 4 ตัวชี้วัดด้านกระบวนการบริหารจัดการ (Process)
            • การกำหนดขอบเขตของแรมซาร์ไซต์
            • กระบวนการวางแผน
            • ระบบความคุ้มครอง
            • การมีการวิจัย
            • การบริหารถิ่นที่อยู่อาศัย
            • การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่
            • การบริหารจัดการงบประมาณ
            • การดูแลรักษาเครื่องมือ
            • การให้การศึกษา
            • ประโยชน์ของชุมชนที่ได้จากพื้นที่
            • การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของท้องถิ่น
            • การสื่อสาร
            • การสนับสนุนจากท้องถิ่น
            • การติดตามประเมินผลการบริหารจัดการ
            • การสนับสนุนจากธุรกิจท่องเที่ยว
            • การนำค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับไปช่วยเหลือพื้นที่โดยรอบ

        กลุ่มที่ 5 ตัวชี้วัดด้านผลผลิต และผลลัพธ์ (Outcome)
            • การมีแผนงาน
            • ประสิทธิภาพของระบบความคุ้มครอง
            • ประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับชุมชน
            • สิ่งอำนวยประโยชน์สำหรับผู้เข้าเยี่ยมชม และความพอเพียง
            • สภาพเสื่อมโทรมของคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ
            • คุณค่าทางนิเวศ หรือคุณค่าทางวัฒนธรรม
            • คำบรรยายลักษณะทางนิเวศ
            • คณะกรรมการบริหารจัดการสหสาขา
            • กลไกการสื่อสารกับกับหน่วยงานอื่นๆ

        (3) การประเมินแนวโน้มระบบนิเวศและประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ
         เป็นการนำข้อมูลจากตัวชี้วัดเพื่อประเมินและวิเคราะห์แนวโน้ม โดยผลการประเมินสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มคือ ดี ต้องได้รับการดูแลจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างสูง อยู่ในภาวะวิกฤต หรือข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการประเมิน และส่วนของการวิเคราะห์แนวโน้มสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มคือมีแนวโน้มดีขึ้น คงที่ ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น หรือมีข้อมูลไม่เพียงพอในการประเมิน นำไปสู่การวางแผนและพัฒนากระบวนการต่อไป

        รูปที่ 2-7 กลุ่มตัวชี้วัดกระบวนการในการบริหารจัดการ
คลิกเพื่อ Download File บทที่ 2 ฉบับสมบูรณ์   Click