พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ-เกาะพระทอง

ขอบเขตและที่ตั้ง
        พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ-เกาะพระทอง อยู่ในอำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พื้นที่ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ที่อยู่ติดทะเลอันดามัน ได้แก่ เกาะระ เกาะคอเขา เกาะพระทอง เกาะปลิง–เกาะพ่อตา เกาะลูกตุ้ม เกาะทุ่งนางดำ และมีเกาะขนาดเล็กต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ป่าชายเลนจำนวน 37 เกาะ มีพื้นที่รวม 122,800 ไร่ หรือ 19,648 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
        พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ-เกาะพระทอง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นชายฝั่งยุบตัว ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก โดยเกาะระ สูงจากระดับน้ำทะเล 235 เมตร เกาะพระทองและเกาะคอเขามีภูเขาสลับที่ราบ สูงจากระดับน้ำทะเล 310 เมตร โดยเกาะพระทองอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีความยาวตามแนวเหนือใต้ 15.4 กิโลเมตร ความกว้างตามแนวตะวันออกถึงตะวันตก 9.7 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 92 ตารางกิโลเมตร หรือ 57,500 ไร่
        เกาะพระทอง มีลักษณะเป็นที่ราบสันดอนทราย เกิดจากการทับถมของตะกอนที่ได้รับอิทธิพลจากคลื่นลมและกระแสน้ำในทะเล นอกจากนั้นยังเกิดจาการทับถมของตะกอนที่ถูกชะล้างมาจากแนวเทือกเขาภูเก็ตพัดพาเคลื่อนที่มาตามแม่น้ำและลำคลองสายต่างๆ มารวมกันบริเวณนี้ ตัวเกาะมีลำคลองหลายสายไหลตัดผ่านเข้าไปในตัวเกาะ เช่น คลองชาด คลองห้างสูง คลองปิหลัง คลองสะยาเหนือ คลองสะยาใต้ สังคมพืชบนเกาะเป็นทั้งป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าพรุ และทุ่งหญ้าสลับป่าเสม็ด เกาะพระทองมีระบบนิเวศที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ ด้านตะวันออกเป็นทะเลแคบๆ ที่คั่นเกาะพระทองออกจากแผ่นดินใหญ่ ตลอดแนวตั้งแต่ทิศเหนือจรดใต้เป็นแนวป่าชายเลน ชายหาดมีลักษณะหาดทรายเปิดสู่ทะเลอันดามัน เกาะพระทองจึงมีระบบนิเวศที่หลากหลายและเชื่อมโยงกัน ส่งผลให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสูงมาก
        เกาะระ เป็นเกาะที่วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ มีความลาดชันสูงมียอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 235 เมตร ด้านทิศตะวันตกมีหาดทรายเป็นแนวยาวด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นแหล่งที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์ เป็นเกาะที่มีพื้นที่ราบและเคยผ่านการทำเหมืองแร่มาก่อนทำให้ดินเป็นทรายไม่เหมาะทำการเกษตรกรรม ด้านตะวันออกของเกาะพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะเป็นป่าชายเลนมีลำคลองผ่ากลางพื้นที่ในแนวเหนือ-ใต้เป็นเกาะที่มีเต่าขึ้นมาวางไข่มากบริเวณชายหาดด้านทิศตะวันตก

สถานภาพทางชีวภาพ
        ทรัพยากรป่าไม้   พบพรรณไม้รวม 398 ชนิด จาก 301 สกุล 108 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก เช่น มะม่วงหิมพานต์ Anacardium occidentale L. ชมพูพันธุ์ทิพย์ Tabebuia rosea (Bertol.) DC. สนประดิพัทธ์ Casuarina junghuhniana Miq. ยางพารา Hevea brasiliensis (Kunth) Müll.Arg. ราชพฤกษ์ Cassia fistula L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. และยูคาลิป Eucalyptus camaldulensis Dehnh. มะพร้าว Cocos nucifera L. var. nucifera และปาล์มน้ำมัน Elaeis guineensis Jacq.
        พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ ได้แก่ นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders กรายดำ Hopea oblongifolia Dyer ลำบิดดง D. filipendulata Piere ex Lecomte หันช้าง Knema andamanica (Warb.) W.J. de Wilde subsp. peninsularis W.J. de Wilde เงาะป่า Nephelium maingayi Hiern ไผ่เลื้อย Maclurochloa montana (Ridl.) K.M.Wong และช้างไห้ Borassodendron machadonis (Ridl.) Becc.
        พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับนานาชาติ คือ ยางยูง Dipterocarpus grandiflorus (Blanco) Blanco ยางมันหมู D. kerrii King ไข่เขียว Parashorea stellata Kurz และช้างไห้ Borassodendron machadonis (Ridl.) Becc. และพบพืชถิ่นเดียว คือ หันช้าง Knema andamanica (Warb.) W.J. de Wilde subsp. peninsularis W.J. de Wilde
        พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 ชนิด ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบยักษ์ Mimosa pigra L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. สาหร่ายหางกระรอก Hydrilla verticillata (L.f.) Royle และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms และพบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 ได้แก่ ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.

        ทรัพยากรสัตว์ป่า   พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ-เกาะพระทอง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกนกน้ำ ได้รับการจัดเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก (IBA) ในประเทศไทยอันดับที่ TH046 พบสัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ พะยูน(Dugong dugon) ปลาโลมาขวด(Tursiops aduncus) ค่างแว่นถิ่นใต้(Trachypithecus obscurus) และกวางป่า(Rusa unicolor) สัตว์จำพวกนก ได้แก่ นกตะกรุม(Leptoptilos javanicus) และสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ เต่าตะนุ (Chelonia mydas) เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) เต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) เต่ากระ (Eretmochelys imbricate)

        ทรัพยากรปลา    พบปลาชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) ได้แก่ ปลาฉลามหูดำ Carcharhinus sorrah ปลาดุกด้าน Clarias batrachus ปลาดุกลำพัน Clarias nieuhofii และปลากดทะเล Netuma thalassina นอกจากนี้พบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้วคือ ปลานิล Oreochromis niloticus
        พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 467 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Mollusca และ ปริมาณความชุกชุมน้อยที่สุดอยู่ในไฟลัม Arthropoda

        ทรัพยากรปะการังและหญ้าทะเล    เกาะพระทองมีแนวปะการังเพียงเล็กน้อย กระจายตัวอยู่รอบเกาะทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณเกาะปลิงใหญ่ และเกาะปลิงน้อย เนื่องจากบริเวณดังกล่าวได้รับอิทธิพลของตะกอนจากแผ่นดินใหญ่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ปะการังที่พบจึงเป็นกลุ่มที่สามารถทนต่อปริมาณตะกอนที่ไหลลงสู่แนวปะการังค่อนข้างสูง เช่น ปะการังโขด (Porites sp.) ปะการังวงแหวน (Favia spp.) เป็นต้น แต่ไม่พบรายงานร้อยละของสภาพการปกคลุมพื้นที่ของแนวปะการัง
        แหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะระ เกาะพระทอง พบสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล มี 2 ระดับ คือ ระดับสมบูรณ์ปานกลาง ได้แก่ บริเวณบ้านปากจก บ้านแป๊ะโย้ย-เกาะกลอย ปากคลองบางป๊ะโยค-คลองห้างสูง และบ้านท่าปากแหว่ง ระดับเสื่อมโทรมเพราะถูกรบกวน ได้แก่ หาดทุ่งนางดำ บ้านท่านุ่น สำหรับสถานภาพตาม IUCN Red List พบว่าหญ้าทะเลทุกชนิดอยู่ในกลุ่มที่เป็นกังวลน้อยที่สุด (LC) พบหญ้าทะเลชนิดต่าง ๆ ปกคลุมกระจายตัวอยู่เกาะต่าง ๆ ได้แก่ หญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia ) หญ้ากุยช่ายทะเล (Halodule uninervis) หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) หญ้าเงาใบเล็ก (Halophila minor) หญ้าเงาใส( Halophila decipiens) หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata) หญ้าชะเงาใบมน (Cymodocea rotundata) หญ้าต้นหอมทะเล( Syringodium isoetifolium) หญ้าใบพาย หรือหญ้าเงาแคระ (Halophila beccarii) หญ้าใบมะกรูด, หญ้าเงา หรือหญ้าอำพัน( Halophila ovalis)
คุณค่าการใช้ประโยชน์
        คุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำชุมชนได้รับประโยชน์ในการเป็นแหล่งประกอบอาชีพการเกษตรและการท่องเที่ยว จากสภาพพื้นที่เกาะระพื้นที่เป็นเขาสูงและชัน สูงจากระดับน้ำทะเล 235 เมตร เกาะพระทองพื้นที่เป็นที่ราบ และเกาะคอเขาพื้นที่เป็นที่ราบส่วนใหญ่มีภูเขาสลับ สูงจากระดับน้ำทะเล 310 เมตร และเกาะบริวารเล็กๆ อีก เช่น เกาะปลิง เกาะตาชัย และเขาบ่อไทรที่มียอดเขาสูงที่สุดคือ 450 เมตรจากระดับน้ำทะเล ชาวบ้านมีการดำเนินการเกษตรตามศักยภาพของพื้นที่ ลักษณะพื้นที่ที่เป็นที่ราบชาวบ้านสามารถใช้ทำประโยชน์ด้านการเกษตร เช่น ปลูกผัก/ผลไม้ และเกษตรอื่นๆ เช่น ทำไร่ ปลูกพืชผัก ไม้ผล ยางพารา พืชที่นิยมปลูก คือแตงโมเป็นพืชเสริมในสวนยางและปาล์มน้ำมัน ซึ่งแตงโมเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร นอกจากนั้นยังมีการทำประมงขนาดเล็ก เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย/เค็ม เลี้ยงสัตว์ และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเกาะพระทองมีแหล่งที่สวยงามอยู่บริเวณโดยรอบ ได้แก่
        - เกาะระด้านทิศตะวันตกของเกาะระเหมาะสำหรับการเล่นน้ำอาบแดด นอกจากนั้นบนเกาะยังเป็นป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะต่อการเดินป่าและศึกษาธรรมชาติ กลางเกาะเป็นทุ่งหญ้าและป่าพรุมีไม้เสม็ดขึ้นอย่างหนาแน่น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกวางป่า หมูป่าและสัตว์หายาก ได้แก่ นกตะกรุม
        - เกาะปลิง -เกาะพ่อตา เป็นเกาะที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมีบรรยากาศที่สวยงามเหมาะสำหรับนั่งชมพระอาทิตย์ตกดิน
        - เกาะระ (อ่าวเส็ง) จัดเป็นแหล่งที่มีคุณค่าการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว/สุนทรียภาพ และแหล่งเรียนรู้ มีความสำคัญเป็นแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม จากการพัฒนาการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ เกาะสมุย และเกาะพะงัน ส่งผลให้เกิดขยายตัวของนักท่องเที่ยวเข้ามายังพื้นที่หมู่เกาะอ่างทอง จำนวนครัวเรือนที่เกี่ยวข้องจำนวน 994 ครัวเรือน ได้รับประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ คิดเป็นมูลค่าโดยรวมเท่ากับ 114.86 ล้านบาท/ปี ซึ่งจำแนกรายตำบลที่ได้รับประโยชน์เป็นมูลค่า ได้แก่ ตำบลคุระ มีมูลค่า 105.03 ล้านบาท/ปี ตำบลคอเขา มีมูลค่า 5.42 ล้านบาท/ปี และตำบลพระทอง มีมูลค่า 4.41 ล้านบาท/ปี มูลค่าทางเศรษฐกิจจากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ มีมูลค่าเท่ากับ 114.86 ล้านบาท/ปี

การจัดการและการคุกคาม
        พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ-เกาะพระทอง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 2153 ในวันที่ 12 สิงหาคม 2556
        การบริหารจัดการใช้มาตรการทางกฎหมายตามความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานต่อผู้กระทำกฎหมาย ได้แก่
        - การก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่าหรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช 2484
        - การเข้าไปยึดถือครอบครอง รวมตลอดถึงการก่อสร้างหรือเผาป่ากระทำด้วยประการใดให้เป็นการทำลายหรือทำให้เสื่อมสภาพที่ดิน ที่หิน ที่กรวด หรือที่ทรายในบริเวณที่รัฐมนตรีประกาศหวงห้าม ในราชกิจจานุเบกษา หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นอันตรายแก่ทรัพยากรในที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497
        - การยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้างแถวถาง เผาป่า ทำไม้เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
        พบการคุกคามจากกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การบุกรุกพื้นที่จากกลุ่มนายทุน บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง โดยการแผ้วถางพื้นที่ปลูกปาล์ม สวนยางพารา และบังกะโล จากการเกษตรที่มีการใช้สารเคมี และการบุกรุกแผ้วถางโดยใช้ยาฆ่าหญ้ามาฉีดก่อนนำปาล์มน้ำมันมาปลูก ช่วงฝนตกมีการชะล้างสารเคมีเป็นมลพิษลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนที่อาศัยอยู่ ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง การลักลอบการทำประมง และด้านการท่องเที่ยวส่งผลให้เกิดการพัฒนาบนเกาะเพื่อรองรับการท่องเที่ยวบนเกาะ จากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำผิวน้ำ การดำน้ำลึก การยิงปลา ตกปลา การเข้าออกของเรือ และการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล เป็นต้น
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ-เกาะพระทองด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมชน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ-เกาะพระทองในวันอังคารที่ 22สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า ชั้น 2 อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 49 คน (รูปที่ 9 และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์   Click