พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์

ขอบเขตและที่ตั้ง
        พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเกาะพระทอง ตำบลคุระ ตำบลแม่นางขาว อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และตำบลบางหิน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ ตำบลเกาะพยาม ตำบลราชกรูด อำเภอเมืองระนอง ตำบลกำพวน ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง มีพื้นที่รวมทั้งหมด 762,787.5 ไร่ หรือ 122,046 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
        ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สุดเหลืออยู่ของประเทศไทยและเขตอินโด–แปซิฟิก พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ ประกอบด้วยร ะบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแบบที่ผสมผสานกันเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำผืนใหญ่ ได้แก่ หาดเลน หาดทราย แหล่งปะการัง แหล่งหญ้าทะเล และป่าชายเลนดึกดำบรรพ์ที่สุด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหลบภัยและขยายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน- ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ ร้อยละ 70.83 ของพื้นที่ทั้งหมด หรือคิดเป็นเนื้อที่ 471,689 ไร่ เป็นทะเล รองลงมา ป่าชายเลน มีเนื้อที่ 62,386 ไร่ ที่เหลือเป็นป่าดิบ ไม้ผล แม่น้ำลำคลอง หนอง บึง ไม้ยืนต้น ชุมชนและสิ่งก่อสร้าง สถานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หาดทราย นาข้าว

สถานภาพทางชีวภาพ
        ทรัพยากรป่าไม้   พบพรรณไม้ รวม 361 ชนิด จาก 278 สกุล 103 วงศ์ มีพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูกในพื้นที่ เช่น มะม่วงหิมพานต์ Anacardium occidentale L. หูกวาง Terminalia catappa L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. สะเดา Azadirachta indica A.Juss. var. siamensis Valeton มะพร้าว Cocos nucifera L. var. nucifera และปาล์มน้ำมัน Elaeis guineensis Jacq. พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ ได้แก่ ปรงทะเล Cycas edentata de Laub. กระดังงาป่า Monoon lateriflorum Blume นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders และจิกเล Barringtonia asiatica (L.) Kurz
        พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบต้น Mimosa pigra L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. สาหร่ายหางกระรอก Hydrilla verticillata (L.f.) Royle และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms และพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 จำนวน ได้แก่ ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.

        ทรัพยากรสัตว์ป่า    พบว่ามีสัตว์ป่าที่ได้รับการจัดสถานภาพการอนุรักษ์ ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ค่างดำ(Presbytis femoralis) ค่างแว่นถิ่นใต้ (Trachypithecus obscurus) ชะนีมือขาว (Hylobates lar) นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata ) ลิ่นชวา(Manis javanica) โลมาปากขวด (Tursiops aduncus) พะยูน (Dugong dugon) สัตว์จำพวกนก ได้แก่ นกหัวโตมลายู (Charadrius peronii) และสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ งูจงอาง (Ophiophagus Hannah) เต่าตะนุ (Chelonia mydas)และเต่าเหลือง (Indotestudo elongata)

        ทรัพยากรปลา    พบปลาทั้งสิ้น 187 ชนิด จาก 74 วงศ์ ซึ่งเป็นชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) ได้แก่ ปลาฉลามหูดำ Carcharhinus sorrah ปลายอดจาก Muraenesox cinereus และปลาดุกอุย Clarias macrocephalus และชนิดที่ถูกคุกคามในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (NT-Near Threatened) ได้แก่ ปลากะรังปากแม่น้ำ Epinephelus coioides นอกจากนี้พบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน คือ ปลาหมอเทศ Oreochromis mossambicus และปลานิล Oreochromis niloticus

        ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน    พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 667 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Mollusca รองลงมา คือไฟลัม Annelida และปริมาณความชุกชุมน้อยที่สุดอยู่ในไฟลัม Arthropoda

        ทรัพยากรปะการังและหญ้าทะเล    ปะการังในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณเกาะและอ่าวต่าง ๆ ที่อยู่โดยรอบ แนวปะการังมีสถานภาพเสียหายถึงเสียหายมาก พิจารณาสถานภาพตาม IUCN ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เป็นกังวลน้อยที่สุด ส่วนปะการังที่มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังดาวใหญ่(Diploastrea heliopora) และปะการังช่องเหลี่ยม(Favites spp.)
        พบปะการังโขด (Porites lutea) ปกคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำมากที่สุด (ร้อยละ 43) ที่เหลือปกคลุมพื้นที่กระจัดกระจาย ได้แก่ ปะการังกาแล๊กซี่ (Galaxea astreata) ปะการังเคลือบหนาม (Echinophyllia sp.) ปะการังจาน (Turbinaria frondens) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites spp.) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora sp.) ปะการังดาวเล็ก (Cyphastrea serailia) ปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) ปะการังใบร่องหนาม (Merulina ampliata) ปะการังโพดาเบเซีย (Podabacia crustacea ) ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea pectinata) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona decussata) ปะการังลายลูกฟูก(Pachyseris rugosa) ปะการังลายหินอ่อน (Gardineroseris sp.) ปะการังเล็ปแทสเตรีย (Leptastrea sp.) ปะการังวงแหวน(Favia sp.) ปะการังสมองร่องเล็ก (Platygyra sp.) ปะการังสมองร่องใหญ่(Symphyllia sp.) ปะการังหนามขนุน(Hydnophora exsea )
        พบสถานภาพหญ้าทะเลมีความสมบูรณ์ดีบริเวณปากคลองบางเบน ปกคลุมพื้นที่ถึงร้อยละ 57.08 ได้แก่ หญ้าเงาแคระ,หญ้าใบพาย (Halophila beccarii) หญ้าเงา,หญ้าใบมะกรูดหรือหญ้าอำพัน (Halophila ovalis) สถานภาพสมบูรณ์ปานกลางบริเวณเกาะล้าน เกาะทา เกาะช้าง ได้แก่ หญ้างอ, หญ้าชะเงาหรือหญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) หญ้าเงาแคระ, หญ้าใบพาย (Halophila beccarii) หญ้าเงา,หญ้าใบมะกรูดหรือหญ้าอำพัน (Halophila ovalis) และสถานภาพเสื่อมโทรมบริเวณเกาะไข่ เกาะนกฮูก ได้แก่ หญ้าเงาแคระ, หญ้าใบพาย (Halophila beccarii) หญ้าเงา,หญ้าใบมะกรูด หรือหญ้าอำพัน (Halophila ovalis) และหญ้าเงาใส หรือหญ้าใบมะกรูดขน(Halophila decipiens)
คุณค่าการใช้ประโยชน์
        พื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน และความสวยงามของธรรมชาติ มีการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้/ศึกษาธรรมชาติ แหล่งอาหารสัตว์น้ำ แหล่งประกอบอาชีพ (ประมงและการท่องเที่ยว) พบว่า เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคาม ได้แก่ นกฟินฟุต นกหัวโตมลายู ปลากะทุงเหวทะเล นอกจากนี้ป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำกระบุรี ยังเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัยระดับนานาชาติ เกี่ยวกับป่าชายเลน ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 4 ของประเทศไทย และจัดว่าเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลประเภทป่าชายเลนแห่งแรกของโลก
        ครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ 2,383 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปี 144,000บาท หรือคิดเป็นมูลค่าประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำมีมูลค่ารวมเท่ากับ 83.36 ล้านบาท/ปี

การจัดการและการคุกคาม
        พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1183 ในวันที่ 14 สิงหาคม 2545
        การบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำมีหลายหน่วยงานที่ร่วมกันรับผิดชอบดูแล พื้นที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บริหารจัดการตามอำนาจหน้าที่ มีภารกิจด้านการอนุรักษ์ ป้องกัน และฟื้นฟู ส่วนบริเวณชายฝั่งทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล บริหารจัดการตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี 2558 นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ใช้เป็นมาตรการในการอนุรักษ์ ได้แก่ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535, พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
        บริเวณปากแม่น้ำกระบุรี ใช้มาตรการกฎหมาย คือ การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 บริเวณพื้นที่ป่าชายเลน อำเภอเมือง จังหวัดระนอง
        บริเวณปากคลองกะเปอร์ มีหน่วยงานดูแลตามอำนาจหน้าที่ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมประมง กรมเจ้าท่า
        พบการคุกคาม ได้แก่ การบุกรุกพื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อทำรีสอร์ท การก่อสร้างรีสอร์ทที่พัก บริเวณใกล้ริมทะเล การบุกรุกพื้นที่ปลูกปาล์ม การลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย การเลี้ยงกุ้งตามแนวริมป่าชายเลน การทอดสมอเรือและคลื่นทะเลส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง การทำประมงด้วยอวนนอกชายฝั่งในเขตอุทยาน การตื้นเขินของลำคลองส่งผลให้สัตว์หน้าดินไม่เจริญเติบโตและปริมาณสัตว์น้ำลดลง การบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อขยายพื้นที่ทำนากุ้งและการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ การใช้สารเคมีในการเกษตรกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คลื่นลมแรง การกัดเซาะชายฝั่ง มลพิษน้ำเสีย/ขยะจากภาคอุตสาหกรรมและชุมชน
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้านได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติแหลมสน-ปากแม่น้ำกระบุรี-ปากคลองกะเปอร์ในวันจันทร์ที่ 21สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอสุขสำราญ อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 40 คน (รูปที่ 12และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์   Click