พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง)



ขอบเขตและที่ตั้ง
        พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจวบ ตำบลบูกิต ตำบลมะรือโบออก อำเภอเจาะไอร้อง ตำบลเกาะสะท้อน ตำบลโฆษิต ตำบลเจ๊ะเห ตำบลนานาค ตำบลบางขุนทอง ตำบลพร่อน ตำบลไพรวัน ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ ตำบลกะลุวอ ตำบลกะลุวอเหนือ ตำบลบางปอ ตำบลลำภู อำเภอเมืองนราธิวาส ตำบลตันหยงสิมอ อำเภอระแงะ ตำบลกายุคละ อำเภอแว้ง ตำบลปาเสมัส ตำบลปูโยะ ตำบลมูโนะ ตำบลสไหงโกลก อำเภอสุไหงโกลก ตำบลกาวะ ตำบลโต๊ะเด็ง ตำบลปะลุรู ตำบลริโก๋ ตำบลสุไฟงปาดี อำเภอสุไหงปาดี มีพื้นที่รวมทั้งหมด 125,625 ไร่ หรือ 66,313 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
        เป็นป่าพรุผืนใหญ่ที่สุดของประเทศไทยที่มีความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังซึ่งอยู่หลังจากชายฝั่งทะเล เป็นแหล่งรับน้ำจากลุ่มน้ำตอนบน มีขนาดยาวประมาณ 28 กิโลเมตร และมีขนาดกว้างประมาณ 8 กิโลเมตร ทอดขนานไปกับแนวชายฝั่งทะเลภาคใต้ด้านตะวันออกในระยะห่างประมาณ 7 กิโลเมตร จัดเป็นป่าพรุดั้งเดิมมีพื้นที่ 60,525 ไร่ นอกนั้นเป็นป่าพรุที่กลายสภาพเป็นป่าเสม็ดและพรุหญ้า ประมาณ 61,250 ไร่ และไม้พุ่มประมาณ 91,250 ไร่ ทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบริมอ่าวไทย ส่วนทางตะวันตกเป็นเทือกเขาที่มียอดสูงสุด 1,182 เมตร น้ำจากพื้นที่ด้านเหนือไหลลงแม่น้ำบางนรา ส่วนน้ำในพื้นที่ด้านใต้ไหลลงสู่แม่น้ำสุไหง โก-ลก ปริมาณน้ำจะมากที่สุดในช่วงฤดูลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีภูมิอากาศค่อนข้างร้อนและชื้นกว่าป่าชนิดอื่นๆ คุณภาพน้ำภายในพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี และจัดอยู่ในมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน และใช้เพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ การประมง และการว่ายน้ำและกีฬาทางน้ำ

สถานภาพทางชีวภาพ
        ทรัพยากรป่าไม้   พบพรรณไม้ รวม 527 ชนิด จาก 362 สกุล 125 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก 2 ชนิด ได้แก่ มะพร้าว Cocos nucifera L. var. nucifera และปาล์มน้ำมัน Elaeis guineensis Jacq.
        พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ 23 ชนิด ได้แก่ มะหน่วย Gnetum latifolium Blume var. funuculare (Blume) Markgr. ซางจีน Nageia motleyi (Parl.) de Laub. มะม่วงปาน Mangifera gedebe Miq. ปาหนันช้าง Goniothalamus giganteus Wall. ex Hook.f. & Thomson กระดังงาป่า Monoon lateriflorum Blume ส้านดำ Dillenia excelsa (Jack) Martelli ex Gilg ยากา Dillenia excelsa (Jack) Martelli ex Gilg แตยอ Cinnamomum rhynchophyllum Miq. หมูผอม Crudia caudata Prain ex King พังค่า C. gracilis Prain ย่านสาวคำ Derris amoena Benth. ลายสะโตง Medinilla clarkei King เคลงหนู M. crassifolia (Reinw. ex Blume) Blume แดง Syzygium myrtifolium Walp. พลูป่า Piper macropiper Pennant สะค้าน P. minutistigmum C.DC. ชำมะเลียงปีก Lepisanthes alata (Blume) Leenh. เงาะป่า Nephelium maingayi Hiern ว่านหางหนุมาน Corymborkis veratrifolia (Reinw.) Blume สรัสจันทร Burmania coelestis D.Don หมากแดง Cyrtostachys renda Blume หลาว Alpinia oxymitra K.Schum. และปุดเดือน Hedychium longicornutum Griff. ex Baker
        พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับนานาชาติ คือ ซางจีน Nageia motleyi (Parl.) de Laub. พืชถิ่นเดียว คือ หลาว Alpinia oxymitra K.Schum. และพบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบยักษ์ Mimosa pigra L. จอก Pistia stratiotes L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. สาหร่ายหางกระรอก Hydrilla verticillata (L.f.) Royle และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms นอกจากนั้นยังพบพืชต่างถิ่นที่รุกราน ได้แก่ จอกหูหนูยักษ์ Salvinia molesda D.S.Mitch. ซึ่งเป็นอยู่ในแหล่งน้ำในพื้นที่

        ทรัพยากรสัตว์ป่า    พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ(พรุโต๊ะแดง) เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ โดยเฉพาะนกน้ำ พบว่ามีสัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 22 ชนิด ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน (Pteropus vampyrus) ค้างคาวขอบหูดำใต้ (Megaerops ecaudatus) ค้างคาวยอดกล้วยเล็ก (Kerivoula minuta) ค้างคาวยอดกล้วยปีกใส (Kerivoula hardwickii) ค้างคาวมงกุฎใหญ่ (Rhinolophus luctus) พญากระรอกสีน้ำตาล (Ratufa affini) กระรอกสามสี(Callosciurus prevostii) กระรอกหน้ากระแต(Rhinosciurus laticaudatus ) หนูฟานเล็ก (Maxomys whiteheadi ) ลิ่นชวา(Manis javanica) เสือดาว,เสือดำ (Panthera pardus) เสือไฟ (Pardofelis temminckii) แมวป่าหัวแบน (Prionailurus planiceps) นากใหญ่หัวปลาดุก (Lutra sumatrana) ลิงลมใต้ (Nycticebus coucang) ลิงกังใต้(Macaca nemestrina) ค่างแว่นถิ่นใต้(Trachypithecus obscurus) อีเห็นน้ำ (Cynogale bennettii ) กระจงควาย (Tragulus napu) อีเห็นลายพาด (Hemigalus derbyanus) ชะมดแปลงลายแถบ (Prionodon linsang) และพญากระรอกเหลือง (Ratufa affinis)
        พบสัตว์จำพวกนก 6 ชนิด ได้แก่ นกฟินฟุต (Heliopais personata) นกเงือกดำ (Anthracoceros malayanus ) นกกางเขนดงหางแดง (Trichixos pyrropyga) เหยี่ยวปลาใหญ่หัวเทา (Icthyophaga ichthyaetus) นกกางเขนดงหางแดง (Trichixos pyrropyga) นกกระติ๊ดหัวขาว (Lonchura maja)
        พบสัตว์เลื้อยคลาน 8 ชนิด ได้แก่ งูจงอาง(Ophiophagus hannah) จระเข้น้ำเค็ม (Crocodylus porosus) ตะพาบน้ำ (Amyda cartilaginea) เต่านาอีสาน(Malayemys macrocephala ) เต่าดำ (Siebenrockiella crassicollis) เต่าหับ (Cuora amboinensis) เต่าใบไม้ (Cyclemys dentata ) เต่าหวาย (Heosemys grandis)

        ทรัพยากรปลา    พบปลาชนิดที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR-Critically endangered species) ได้แก่ ปลาดุกแคระ Encheloclarias kelioides ชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) ได้แก่ ปลาซิวข้างขวาน Trigonostigma heteromorpha ปลาซิวก้นดำ Rasbora bankanensis ปลาซิวแถบทอง Rasbora pauciperforata ปลาซิวเพชรน้อย Boraras maculatus ปลาซิวหนู Boraras uropthalmoides ปลากะทิ Cyclocheilichthys heteronema ปลาปล้องอ้อยหนวดยาว Pangio cuneovirgata ปลาปล้องอ้อย Pangio kuhlii ปลาก้างพระร่วงป่าพรุ Kryptopterus macrocephalus ปลาดุกลำพัน Clarias nieuhofii ปลาดุกด้าน Clarias batrachus และปลาดุกอุย Clarias macrocephalus
        พบปลาที่เป็นปลาเฉพาะถิ่นของประเทศไทย ไดแก ปลาซิวหนู Boraras uropthalmoides ปลาเสือพรุหกขีด Systomus hexazona ปลาหวีเกศพรุ Pseudeutropius indigens ปลากะแมะ Chaca bankanensis ปลาช่อนเข็ม Luciocephalus pulcher ปลากัดน้ำแดง Betta pi และปลากริมแรด Parosphronemus paludicola

        ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน    พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 281 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Arthropoda รองลงมา คือ ไฟลัม Annelida
คุณค่าการใช้ประโยชน์
        จัดเป็นพื้นที่ป่าพรุที่มีคุณค่าการใช้ประโยชน์ที่มีความสำคัญหลากหลาย มีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น มีคุณค่าเป็นแหล่งทรัพยากรป่าไม้และของป่าที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ เป็นแหล่งอาหาร และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะพันธุ์ปลาที่พบเฉพาะในป่าพรุโต๊ะแดง เป็นแหล่งเพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัย และ อนุรักษ์ฟื้นฟู เป็นคลังข้อมูลการเรียนรู้ของเยาวชน เป็นแหล่งการท่องเที่ยว เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสวยงาม เป็นแหล่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ เรียกว่า มหัศจรรย์ป่าพรุโต๊ะแดง มีพืชพันธุ์เด่นๆ เช่น พืชตระกูลหมากแดง ผักแพงพวย บัวสาย สาคู ตาลปัตรฤาษี เป็นต้น กล่าวได้ว่าเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าทั้งพืชพันธุ์ สัตว์ และยารักษาโรค
        ทางด้านเศรษฐกิจจัดเป็นแหล่งทำมาหากินและสร้างรายได้ให้กับประชาชน มีครัวเรือนที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวข้องกับพรุโต๊ะแดง จำนวน 14,451 ครัวเรือน คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน เท่ากับ 11,750 บาท/ปี คิดเป็นผลประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำกระจายไปยังชุมชนโดยรอบ มีมูลค่าเท่ากับ 169.80 ล้านบาท/ปี

การจัดการและการคุกคาม
        พื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1102 ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2544 พื้นที่ชุ่มน้ำพรุโต๊ะแดงได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2534 และป่าพรุบางส่วนเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และที่สาธารณะประโยชน์ ส่วนบริเวณรอบๆเป็นที่ดินมิเอกสารสิทธิ์ พื้นที่โดยรอบป่าพรุจึงมีชุมชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นและมีถนนโดยรอบ การบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติฯ (พรุโต๊ะแดง) โดยสำนักงาน กปร. ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยมีมาตรการด้านการบริหารจัดการน้ำและด้านสิ่งก่อสร้างควบคู่กันไป มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หาแนวทางการจัดการพื้นที่ป่าพรุโดยแบ่งเป็น 3 เขต คือเขตพื้นที่สงวน เขตพื้นที่อนุรักษ์ และเขตพัฒนา มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการส่งเสริมอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ลดปัญหาการบุกรุกป่าให้น้อยที่สุด พบว่ายังมีสภาวะถูกคุกคามจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากสภาวะปรากฏการณ์ เอล นินโญ่ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง เกิดไฟไหม้ป่าพรุโต๊ะแดงเกิดความเสียหาย จากการบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบบริเวณป่าพรุโต๊ะแดง และการพัฒนาพื้นที่ของส่วนราชการต่างๆ เช่น การก่อตั้งนิคมสหกรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขุดคลองระบายน้ำออกจากพื้นที่พรุสู่แม่น้ำและทะเล ทำให้พื้นที่ป่าพรุเสื่อมสภาพส่งผลกระทบต่อทรัพยากรปลาสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและปริมาณสัตว์น้ำลดลง การใช้ยาและสารเคมีในพื้นที่เกษตรรอบพื้นที่ป่าพรุ เกิดสารเคมีตกค้างลงสู่แหล่งน้ำส่งผลกระทบต่อแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์น้ำในพื้นที่ป่าพรุ และการจับปลาโดยเฉพาะการรวบรวมพันธุ์ปลาสวยงามเพื่อนำไปขาย เช่น ปลากะแมะ ปลาซิวข้างขวานใหญ่ ส่งผลให้ปลาสวยงามดังกล่าวอาจสูญพันธุ์
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ(พรุโต๊ะแดง)ด้วยRamsar site Management Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ(พรุโต๊ะแดง)ในวันจันทร์ที่ 11กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมบางนรา ชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอเมืองนราธิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 44 คน (รูปที่ 8และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์   Click