พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง
ขอบเขตและที่ตั้ง
พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านต้อง ตำบลโสกก่าม อำเภอเซกา ตำบลบึงโขงหลง ตำบลโพธิ์หมากแข้ง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่ทั้งหมด 13,837.5 ไร่ หรือ 2,214 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง เป็นบึงน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ มีลักษณะแคบยาวเกิดจากลำห้วยหลายสายไหลมารวมกันน้ำมีความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร ความกว้าง 2 กิโลเมตร ในบึงมีความลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 0.5 – 1 เมตร โดยส่วนที่ลึกสุดประมาณ 6 เมตร บึงโขงหลงเป็นส่วนที่ราบน้ำท่วมถึงของแม่น้ำสงคราม น้ำจากบึงไหลลงสู่แม่น้ำสงครามก่อนออกแม่น้ำโขง มีเกาะกลางบึง ได้แก่ ดอนแก้ว ดอนสวรรค์ ดอนโพธิ์ ดอนน่อง บนเกาะเหล่านี้มีป่าดิบแล้งที่ค่อนข้างสมบูรณ์พื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่ค่อนข้างราบเรียบ มีชุมชนเมืองอาศัยอยู่ตอนล่างของบึงพื้นที่ดินรอบบึงเป็นที่นา ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรโดยรอบมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสวนยางพารา ไร่ยาสูบ และสถานที่ท่องเที่ยว
สถานภาพทางชีวภาพ
ทรัพยากรป่าไม้ บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง พบพรรณไม้รวม 238 ชนิด 198 สกุล 82 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูกในพื้นที่ 17 ชนิด เช่น สุพรรณิการ์ Cochlospermum religiosum (L.) Alston ยางนา Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don ตะเคียนทอง Hopea odorata Roxb. สัก Tectona grandis L. ราชพฤกษ์ Cassia fistula L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. ทองกวาว Butea monosperma (Lam.) Tuab. พะยูง Dalbergia cochinchinensis Pierre และสะเดา Azadirachta indica A.Juss. var. siamensis Valeton
พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ 2 ชนิด ได้แก่ นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders และสรัสจันทร Burmania coelestis D.Don
พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 จำนวน 11 ชนิด ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบต้น Mimosa pigra L. จอก Pistia stratiotes L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 จำนวน 2 ชนิด ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.
ทรัพยากรสัตว์ป่า พบสัตว์ป่าที่ได้รับการจัดสถานภาพ อย่างน้อย 7 ชนิด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วย สัตว์จำพวกนก 3 ชนิด ได้แก่ เป็ดดำหัวสีน้ำตาล( Aythya nyroca) นกกระสาแดง (Ardea purpurea) และนกขมิ้นขาว (Oriolus mellianus) สัตว์เลื้อยคลาน 4 ชนิด ได้แก่ งูจงอาง Ophiophagus hannah ) ตะพาบน้ำ(Amyda cartilaginea ) เต่านาอีสาน(Malayemys subtrijuga ) และเต่าเหลือง(Indotestudo elongate)
ทรัพยากรปลา พบปลาทั้งสิ้น 90 ชนิด จาก 24 วงศ์ เป็นปลาชนิดที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN-Endangered species) 2 ชนิด ได้แก่ ปลายี่สก Probarbus jullieni Sauvage และปลานวลจันทร์น้ำจืด Cirrhinus microlepis Sauvage และชนิดปลาที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ปลาแขยงธง Heterobagrus bocourti Bleeker ปลาก้างพระร่วง Kryptopterus bicirrhis ปลาดุกด้าน Clarias batrachus ปลาดุกอุย Clarias macrocephalus Günther และปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ Indostomus spinosus Britz & Kottelat
พบปลาเฉพาะถิ่นของประเทศไทย 2 ชนิด ไดแก ปลาซิวแคระสามจุด Boraras micros Kottelat & Vidthayanon และปลาบู่กุดทิง Neodontobutis aurarmus ยังพบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน 2 ชนิด คือ ปลาดุกรัสเซีย Clarias gariepinus และปลานิล Oreochromis niloticus และปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน 1 ชนิด คือ ปลากดเกราะ Pterygoplichthys pardalis
ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 128 ตัวต่อตารางเมตร โดยอยู่ในไฟลัม Mollusca มีปริมาณความชุกชุมมากที่สุด รองลงมา คือ ไฟลัม Arthropoda
คุณค่าการใช้ประโยชน์
เป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความสำคัญมีคุณค่าการใช้ประโยชน์ด้านเป็นแหล่งประกอบอาชีพและการท่องเที่ยว ได้แก่ ด้านการประมง จัดเป็นแหล่งประมงปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของชาวบึงกาฬ สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนปีละจำนวนมาก ด้านการปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของพืชอาหารและน้ำเหมาะสำหรับการเลี้ยงโคและกระบือด้วยวิธีธรรมชาติ ด้านการเกษตร พื้นที่เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ได้แก่ การทำนาข้าวทั้งนาปีและนาปรัง มะเขือเทศ แตงโม พืชผักสวนครัว ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบบางส่วนมีการทำสวนยางพารามากขึ้น และ ด้านการท่องเที่ยว มีจุดท่องเที่ยวเป็นที่นิยมมาพักผ่อนและเยี่ยมชมธรรมชาติคือหาดคำสมบูรณ์
การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 3.12 ล้านบาท/ปี จำแนกเป็นมูลค่าจากการประมง 1.73 ล้านบาท/ปี การท่องเที่ยว 0.19 ล้านบาท/ปี และการบริการ 1.20 บาท/ปี
การจัดการและการคุกคาม
พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1098 ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2544
การบริหารจัดการทรัพยากรประมงในบึงโขงหลง เป็นพื้นที่ต้นแบบในด้านการอนุรักษ์และการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม โดยมีตัวแทนหมู่บ้านเข้าร่วมหารือกันหาแนวทางการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อให้ทุกหมู่บ้านที่ตั้งอยู่โดยรอบได้ใช้น้ำอย่างเท่าเทียมกัน โดยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนส่งผลให้พื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลงเป็นแหล่งทรัพยากรที่สามารถหล่อเลี้ยงชุมชนได้อย่างเพียงพอ รวมทั้งความร่วมมือขององค์กรเอกชนให้ความสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัย ได้แก่ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น ร่วมกับ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย หรือ WWF Thailand ความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประมง กรมชลประทาน ร่วมบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ปัญหาของพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลงที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ได้แก่ การทำประมงเกินขนาด โดยการใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม เช่น การช๊อตปลาและการเบื่อปลา การใช้เครื่องมือการทำประมงที่ผิดกฎหมายทำให้ปลาไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ส่งผลกระทบให้ปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่หนองบึงโขงหลงลดลงอย่างมาก การทำการเกษตรที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการใช้สารเคมี ยาปราบวัชพืช และยาปราบศัตรูพืช ทำให้เกิดการปนเปื้อนมลพิษลงสู่ในแหล่งน้ำส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ การขยายตัวด้านการท่องเที่ยวบริเวณหาดคำสมบูรณ์ก่อให้เกิดการปนเปื้อนจากขยะ/น้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำ และการออกแบบระบบชลประทานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการอพยพโยกย้ายการทำรัง วางไข่ ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพลดลง
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำบึงโขงหลงด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง ในวันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม 2560ณ ห้องประชุมเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 35 คน (รูปที่ 11และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์ Click