ขอบเขตและที่ตั้ง
พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลอำเภอปากพนัง ประมาณ 50 กิโลเมตร มีพื้นที่ 2,337.5 ไร่ หรือ 374 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศอยู่ห่างจากแผ่นดินประมาณ 53 กิโลเมตร ประกอบด้วย เกาะขนาดเล็ก 3 เกาะ ได้แก่ เกาะกระใหญ่ เกาะกลางหรือเกาะหลาม และเกาะเล็กหรือเกาะบกและหินกองเรืออีก 1 กอง เรียกว่า หินเรือ ซึ่งเกาะที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดพื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นภูเขาสูง มีแนวหาดทรายสั้น ๆ อยู่ทางทิศตะวันตก หมู่เกาะกระมีแนวปะการังที่สวยงามและมีสภาพสมบูรณ์มีแนวปะการังทั้งสิ้น 412 ไร่ พื้นที่เกาะกระเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ พื้นที่โดยทั่วไปบนเกาะเป็นป่าดิบ และมีชายหาดที่วางตัวตามแนวยาวบริเวณรอบเกาะ
สถานภาพทางชีวภาพ
ทรัพยากรป่าไม้ พบพรรณไม้ รวม 266 ชนิด จาก 213 สกุล 84 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก ได้แก่ นุ่น Ceiba pentandra (L.) Gaertn. ยอบ้าน Morinda citifolia L. และตาล Borassus flabellifer L. มีพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ ได้แก่ จำปูน Goniothalamus expansus Craib กระดังงาป่า Monoon lateriflorum Blume นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders และบุกเขา Pseudodracontium harmandii Engl. และพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 คือ กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit
ทรัพยากรสัตว์ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า โดยเฉพาะเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเลที่สำคัญในพื้นที่อ่าวไทย มีสัตว์ป่าที่ได้รับการจัดสถานภาพตามการจัดของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Nabhitabhata & Chan-ard 2005) และ IUCN (2017) อย่างน้อย 4 ชนิด เป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ได้แก่ สัตว์จำพวกนก ได้แก่ นกโจรสลัดเกาะคริสต์มาส (Fregata andrewsi) นกยางจีน( Egretta eulophotes) และสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ เต่าตะนุ (Chelonia mydas) เต่ากระ( Eretmochelys imbricate)
ทรัพยากรปลา พบปลาทั้งสิ้น 117 ชนิด จาก 28 วงศ์ สถานภาพของปลาไม่พบปลาที่ขึ้นบัญชีสถานภาพของ IUCN Redlist of Threatened Species (2006) และสถานภาพของ Thailand red data: Fishes (Vidthayanon, 2005) และปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่น
ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 1,896 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Annelida รองลงมา คือ ไฟลัม Mollusca ปริมาณความชุกชุมน้อยที่สุดอยู่ในไฟลัม Arthropoda
ทรัพยากรปะการังและหญ้าทะเล หมู่เกาะกระ มีพื้นที่ทั้งหมด 0.39 ตารางกิโลเมตร แนวปะการังส่วนใหญ่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีมาก ร้อยละ 87.50 และดี ร้อยละ 12.50 ความเสื่อมโทรมของแนวปะการังเกิดจากธรรมชาติ เช่น การเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว การได้รับอิทธิพลจากตะกอนและน้ำจืด และกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การพัฒนาชายฝั่ง การท่องเที่ยว การประมง เป็นต้น สำหรับสถานภาพตาม IUCN Red List บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ พบว่ามีข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับระบุสถานภาพ IUCN Red List
ทรัพยากรปะการังอยู่ในสถานภาพ 2 ระดับ ระดับดีและระดับดีมาก พบปะการังเขากวางแบบกิ่ง (Acropora spp.) ปกคลุมพื้นที่มากกว่าร้อยละ 90 บริเวณด้านทิศใต้ของเกาะกระกลาง และปกคลุมมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณด้านใต้ฝั่งหาดหินและเกาะกลางเล็กด้านทิศใต้ ซึ่งสถานภาพปะการังอยู่ในระดับดีมาก กลุ่มปะการังที่พบบริเวณ ได้แก่ ปะการังเกล็ดน้ำแข็ง Montipora spp. ปะการังเขากวางแบบกิ่ง Acropora spp. ปะการังโขดPorites sp. ปะการังจานTurbinaria spp. ปะการังช่องหนามEchinopora spp. ปะการังช่องเหลี่ยม Favites spp. ปะการังดอกกะหล่ำ Pocillopora spp. ปะการังดอกเห็ด Fungia spp. ปะการังลายดอกไม้ Povona spp. ปะการังวงแหวน Favia spp. ปะการังสมอง Platygyra sp.
ทรัพยากรหญ้าทะเล ไม่พบรายงานทรัพยากรหญ้าทะเลในพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช
คุณค่าการใช้ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว เนื่องพื้นที่ชุ่มน้ำหมู่เกาะกระเป็นแหล่งระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย มีแหล่งหญ้าทะเล และปะการัง มีชนิดพันธุ์ไม้หายาก คือ เอื้องปากนกแก้ว เป็นแหล่งสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอนุบาลและหลบภัยของสัตว์น้ำในช่วงมรสุมบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก แหล่งทำรังวางไข่ของสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน เต่าหญ้า เต่ามะเฟือง และนกตะกรุม เป็นต้น มูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว จากการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำคิดเป็นมูลค่าประโยชน์ที่เป็นตัวเงินที่ได้จากการท่องเที่ยว มีมูลค่าเท่ากับ 983,717 บาท/ปี
การจัดการและการคุกคาม
พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 2152 ในวันที่ 12 สิงหาคม 2556
การบริหารจัดการพื้นที่ได้ใช้แนวทางด้านการมีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูจากทุกภาคส่วน โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประมงจังหวัด สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีโครงการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar site) หมู่เกาะกระ (ทำความสะอาดชายหาดและแนวปะการัง) โดยจัดให้มีกิจกรรมทำความสะอาดชายหาดและดำน้ำเก็บขยะแนวปะการังเทียม ปล่อยเต่าทะเล การจัดนิทรรศการให้ความรู้ เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการพื้นที่แหล่งทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในระดับพื้นที่ พื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ หรือแรมซาร์ไซต์ (Ramsar site) อย่างต่อเนื่อง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้เร่งออกกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองพื้นที่หมู่เกาะกระ และจัดทำแผนและมาตรการในการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครอง เนื่องจากปัจจุบันหมู่เกาะกระยังไม่มีกฎหมายใดมาเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีเพียงแต่มติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น และเพื่อเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 มีแนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ การกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ในการปฏิบัติงานเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ โดยการแบ่งเขตพื้นที่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ และการประกาศพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
พื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ ได้รับผลกระทบจากการทำประมงและท่องเที่ยว โดยการทำลายแนวปะการังจากการทิ้งสมอและการทิ้งเศษอวน การทำประมงโดยการใช้ระเบิด ยาเบื่อ การลักลอบทำประมงอวนลากใกล้ฝั่ง การดำน้ำยิงปลา การลักลอบเก็บไข่เต่าทะเล และการท่องเที่ยว
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระในวันพุธที่ 13กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมสาธารณสุขอำเภอควนขนุน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอควนขนุน ตำบลควนขนุน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 35 คน (รูปที่ 6 และภาคผนวกที่ 4)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์ Click