พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง



ขอบเขตและที่ตั้ง
        พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง ตั้งอยู่ในเขตตำบลโคกก่อง ตำบลโนนสมบูรณ์ ตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ มีพื้นที่รวม 13,750 ไร่ หรือ 2,200 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
        ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง มีลักษณะเป็นกุด (Oxbow lake) ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากตัวอำเภอบึงกาฬเพียง 5 กิโลเมตร มีรูปร่างคล้ายกับปีกผีเสื้อ กุดทิงมีระบบนิเวศที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง จึงทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ระดับความลึกของแหล่งน้ำแห่งนี้ประมาณ 2 – 5 เมตร และในฤดูน้ำหลากอาจลึกมากสุดถึง 10 เมตร การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง ร้อยละ 40.29 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นพื้นที่ไม้ผล มีเนื้อที่ 62,162 ไร่ รองลงมา นาข้าวมีเนื้อที่ 28,876 ไร่ ที่เหลือแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง ชุมชนและสิ่งก่อสร้าง ทุ่งหญ้า ที่ลุ่ม สระน้ำ บ่อน้ำ คลอง และพืชไร่ ตามลำดับ
        สำหรับคุณภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง พบว่า คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีและจัดอยู่ในมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภทสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน และเพื่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ การประมง และการว่ายน้ำและกีฬาทางน้ำ

สถานภาพทางชีวภาพ
        ทรัพยากรป่าไม้   พบพรรณไม้ รวม 259 ชนิด จาก 214 สกุล 86 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก เช่น ยางนา Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don ตะเคียนทอง Hopea odorata Roxb. สัก Tectona grandis L. ราชพฤกษ์ Cassia fistula L. นนทรี Peltophorum pterocarpum (DC.) Backer. ex K.Heyne กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. ทองกวาว Butea monosperma (Lam.) Tuab. พะยูง Dalbergia cochinchinensis Pierre และยูคาลิป Eucalyptus camaldulensis Dehnh. พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ ได้แก่ นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders เปล้าดิน Colobocarpos nanus (Gagnep.) Esser & Welzen และสรัสจันทร Burmania coelestis D.Don
        พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบต้น Mimosa pigra L. จอก Pistia stratiotes L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms และพบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 ได้แก่ ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.

        ทรัพยากรสัตว์ป่า   เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกนกน้ำ พบว่า มีสัตว์ป่าที่ได้รับการจัดสถานภาพตามการจัดของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Nabhitabhata & Chan-ard 2005) และ IUCN (2017) อย่างน้อย 5 ชนิด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่า ที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วย สัตว์จำพวกนก ได้แก่ เป็ดดำหัวสีน้ำตาล(Aythya nyroca) และนกกระสาแดง (Ardea purpurea) และสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ งูจงอาง Ophiophagus Hannah ตะพาบน้ำ Amyda cartilaginea และเต่านาอีสาน Malayemys subtrijuga

        ทรัพยากรปลา   พบปลาทั้งสิ้น 80 ชนิด จาก 24 วงศ์ พบปลาที่ติดสถานภาพของ IUCN Redlist of Threatened Species (2016) และสถานภาพของ Thailand red data: Fishes (Vidthayanon, 2005) จำนวน 12 ชนิด จำแนกเป็น
        ชนิดที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR-Critically endangered species ) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ปลาบึก Pangasianodon gigas และปลาบัว Osteochilus schlegeli
        ชนิดที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN-Endangered species) จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ปลายี่สก Probarbus jullieni ปลาเอิน Probarbus labeamajor ปลานวลจันทร์น้ำจืด Cirrhinus microlepis และปลาสวาย Pangasianodon hypophthalmus และ
        ชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ ปลาแขยงธง Heterobagrus bocourti ปลาดุกด้าน Clarias batrachus ปลาดุกอุย Clarias macrocephalus และปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ Indostomus spinosus
        ชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT-Near Threatened) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ปลาแค้ควาย Bagarius yarrelli และปลาเค้าขาว
        ชนิดพันธุ์ประจําถิ่น (Endemic species) พบปลาที่เป็นปลาเฉพาะถิ่นของประเทศไทย 3 ชนิด ได้แก่ ปลาซิวแคระสามจุด Boraras micros ปลาบู่กุดทิง Neodontobutis aurarmus และปลาบู่แคระ Brachygobius mekongensis นอกจากนี้พบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว 2 ชนิด คือ ปลาดุกรัสเซีย Clarias gariepinus และปลานิล Oreochromis niloticus

        ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน   พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 2,152 ตัวต่อตารางเมตร โดยอยู่ในไฟลัม Arthropoda มีปริมาณความชุกชุมมากที่สุด รองลงมา ไฟลัม Mollusca และปริมาณความชุกชุมน้อยที่สุด คือไฟลัม Annelida
คุณค่าการใช้ประโยชน์
        พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง เป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความสำคัญมีคุณค่าการใช้ประโยชน์ด้านเป็นแหล่งประกอบอาชีพและการท่องเที่ยว ได้แก่ ด้านการประมง จัดเป็นแหล่งประมงปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดของชาวบึงกาฬ สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนปีละจำนวนมาก ด้านการปศุสัตว์ เนื่องจากเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของพืชอาหารและน้ำเหมาะสำหรับการเลี้ยงโคและกระบือด้วยวิธีธรรมชาติ ด้านการเกษตร พื้นที่เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ ได้แก่ การทำนาข้าวทั้งนาปีและนาปรัง มะเขือเทศ แตงโม พืชผักสวนครัว ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบบางส่วนมีการทำสวนยางพารามากขึ้น และ ด้านการท่องเที่ยว มีสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณโดยรอบ ได้แก่ หลวงพ่อใหญ่ วัดโพธาราม ศาลเจ้าแม่สองนาง หาดทรายตามริมน้ำโขง หนองกุดทิง และหนองบึงกาฬ ในตำบลบึงกาฬ
        ครัวเรือนได้รับประโยชน์จากกุดทิง 2,556 ครัวเรือน มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยเท่ากับ 63,000 บาท/ ปี การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง ได้รับประโยชน์คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 161.03 ล้านบาท/ปี

การจัดการและการคุกคาม
        พื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1926 ในวันที่ 19 มิถุนายน 2552
        การบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิง มีหน่วยงานรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ร่วมกัน ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง กรมประมง และองค์การบริหารส่วนตำบล รับผิดชอบพื้นที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน มีการจัดทำแนวเขตที่ชัดเจนทั้งส่วนพื้นดิน (หลักเขต) และพื้นน้ำ (ทุ่นลอยน้ำ) ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่รับทราบแนวเขต ทางปฏิบัติหากมีปัญหาด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่ระหว่างชุมชนจะมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อหาข้อยุติ
        การคุกคามที่พบส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำในทางลบ เช่น การเพาะปลูกโดยการใช้สารเคมีเกิดการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำได้ กิจกรรมการเลี้ยงสัตว์รอบหนองกุดทิงอาจส่งผลกระทบต่อสังคมพืชน้ำ การลักลอบจับปลาโดยใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายในบางพื้นที่ หรือการติดตั้งเครื่องมือขวางกั้นเส้นทางเดินสัตว์น้ำบริเวณต้นน้ำของหนองกุดทิง ทำให้ช่วงฤดูวางไข่ปลาน้ำจืดไม่สามารถไปวางไข่ได้ เป็นสาเหตุให้จำนวนปริมาณของปลาตามธรรมชาติลดลง ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่หาเลี้ยงชีพจากการทำประมง รวมไปถึงสัตว์และพืชต่างถิ่นที่รุกราน ได้แก่ หอยเชอรี่ ไมยราบยักษ์ ผักตบชวา และจอกแหน เป็นต้น
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำกุดทิงในวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2560ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 38 คน (รูปที่ 11และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์   Click