พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
ขอบเขตและที่ตั้ง
พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในเขตอำเภอสามร้อยยอด และอำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่รวม 43,075 ไร่ หรือ 6,892 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนยุคเพอร์เมียน มีอายุประมาณ 280 - 230 ล้านปีมาแล้ว พบภูเขาหินปูนมีความสูงชันริมฝั่งทะเลผสมกับที่ราบริมฝั่งทะเลที่เป็นหาดเลนและห้วงน้ำทะเลตื้น รวมตลอดถึงเกาะหินปูนที่ตั้งเรียงรายใกล้ชายฝั่งทะเลซึ่งยาวจากเขากระโหลกทางทิศเหนือถึงเขาแร้งทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร ได้แก่ เกาะโครัง เกาะนมสาว เกาะระวาง เกาะระวิง เกาะสัตกูด และเกาะขี้นก ระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีความหลากหลายประกอบด้วย บึงน้ำจืด ป่าชายเลน หาดโคลน และหาดทราย ลักษณะภูมิประเทศรอบเทือกเขาเป็นทุ่งที่ราบลุ่มกว้างใหญ่ ซึ่งบริเวณพื้นที่ราบมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบที่มีน้ำขังตลอดปี อยู่ทางด้านตะวันตกของอุทยานแห่งชาติ เรียกว่า “ทุ่งสามร้อยยอด” มีเนื้อที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร (43,750) ในอดีตเคยเป็นทะเลหรืออ่าว ต่อมาถูกปิดกั้นด้วยตะกอนและสันทราย ทะเลถอยร่นออกไป ได้รับอิทธิพลน้ำจืดจากแผ่นดิน โดยน้ำฝนเป็นแหล่งน้ำหลักที่เข้าสู่ทุ่ง และน้ำส่วนหนึ่งไหลมาจากเทือกเขาสามร้อยยอด มีการสะสมของตะกอนที่ราบลุ่ม ค่อยๆ กลายเป็นทุ่งน้ำกร่อยและทุ่งน้ำจืดตามลำดับ “ทุ่งสามร้อยยอด” ถือเป็นระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นที่ราบลุ่มที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีน้ำขังหรือท่วมอยู่ถาวร ทั้งส่วนที่เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย มีระดับน้ำลึกเฉลี่ย 3 เมตร บริเวณบึงน้ำจืดเป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีพืชลอยน้ำหรือพืชใต้น้ำกระจายอยู่หนาแน่นเป็นที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์นานาชนิด
พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีสภาพเป็นทะเล ร้อยละ 37.70 ของพื้นที่ทั้งหมด คิดเป็นเนื้อที่ 156,161 ไร่ รองลงมา เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ลุ่ม และป่าผลัดใบ ตามลำดับ ที่เหลือเป็นนาข้าว ไม้ยืนต้น ชุมชนและสิ่งก่อสร้าง ทุ่งหญ้า พืชไร่ ไม้ผล ป่าชายเลน
สถานภาพทางชีวภาพ
ทรัพยากรป่าไม้ พบพรรณไม้รวม 294 ชนิด จาก 236 สกุล 95 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก เช่น มะม่วง Mangifera indica L. เหลืองปรีดิยาธร Cybistax donnell-smithii (Rosc.) Seibert สนปรดิพัทธ์ Casuarina junghuhniana Miq. หูกวาง Terminalia catappa L. ราชพฤกษ์ Cassia fistula L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. สะเดา Azadirachta indica A.Juss. var. siamensis Valeton ยูคาลิป Eucalyptus camaldulensis Dehnh. และมะพร้าว Cocos nucifera L. var. nucifera
พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ ได้แก่ นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders ผักแขยงสยาม Limnophila siamensis T.Yamaz. และสรัสจันทร Burmannia coelestis D.Don และพบพืชถิ่นเดียว คือ ผักแขยงสยาม Limnophila siamensis T.Yamaz
พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบยักษ์ Mimosa pigra L. ผกากรอง Lantana camara L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms และมีพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 ได้แก่ ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.
ทรัพยากรสัตว์ป่า สัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ เลียงผา(Capricornis) โลมา อิรวดี (Orcaella brevirostris ) ลิงกังเหนือ (Macaca leonine) ลิงเสน (Macaca arctoides) และเสือปลา (Prionailurus viverrinus) สัตว์จำพวกนก ได้แก่ นกพงนาพันธุ์แมนจูเรีย (Acrocephalus tangorum) นกหัวโตมลายู (Charadrius peronii) นกกระสาแดง (Ardea purpurea) และสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ เต่าหับ (Cuora amboinensis) เต่าดำ (Siebenrockiella crassicollis ) เต่าเหลือง (Indotestudo elongata) และงูจงอาง ( Ophiophagus Hannah)
ทรัพยากรปลา พบปลาชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) ได้แก่ ได้แก่ ปลาดุกด้าน Clarias batrachus ปลาดุกอุย Clarias macrocephalus และพบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว คือ ปลาหมอเทศ Oreochromis mossambicus และปลานิล Oreochromis niloticus
ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 2,344 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Mollusca รองลงมา คือไฟลัม Arthropoda และพบชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว ได้แก่ Pomacea sp.(หอยเชอรี่)
ทรัพยากรปะการังและหญ้าทะเล พบแนวปะการังเพียงเกาะเดียว คือ เกาะโกลำ อยู่ห่างจากชายฝั่ง 1.4 กิโลเมตร ด้านทิศเหนือมีลักษณะเป็นแนวปะการังริมฝั่ง กว้าง 30-50 เมตร ก่อตัวถึงระดับน้ำลึก 1-1.5 เมตร มีพื้นที่แนวปะการังประมาณ 0.133 ตารางกิโลเมตร แนวปะการังมีสภาพสมบูรณ์ดีมาก ปะการังมีชีวิตปกคลุมพื้นที่ร้อยละ 60 และมีปะการังตายประมาณร้อยละ 10 ทางด้านทิศตะวันออกเป็นกลุ่มปะการังบนพื้นทราย (patch reef) โดยมีปะการังมีชีวิตเพียงร้อยละ 5 และปะการังตายประมาณร้อยละ 25 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกปะการังโขด (Porites lutea) ขนาดเล็ก เนื่องจากน้ำตื้นและความขุ่นจากตะกอนที่ได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำปราณบุรี ส่วนทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้มีชายฝั่งเป็นโขดหิน ปะการังขึ้นปกคลุมบนแนวหินจำนวนน้อย อัตราส่วนของปะการังที่มีชีวิตกับปะการังตาย 6.84:1 ซึ่งจัดอยู่สถานภาพดีมาก และจัดอยู่ในสถานภาพกลุ่มที่เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concerned; LC) ตามบัญชีสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ของ IUCN Red list
ทรัพยากรหญ้าทะเล ไม่พบทรัพยากรหญ้าทะเล ในพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด
คุณค่าการใช้ประโยชน์
สภาพพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีคุณค่าการใช้ประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นแหล่งเรียนรู้/ศึกษาธรรมชาติ มีความสำคัญเป็นของแหล่งศึกษาด้านนิเวศวิทยา แหล่งค้นคว้าวิจัย ทดลอง และเก็บตัวอย่างเพื่อการศึกษาทางอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา และวิวัฒนาการ เป็นแหล่งอาหารสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา และพืชน้ำ เป็นแหล่งอาชีพในการจับสัตว์น้ำและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โดยชาวบ้านประกอบอาชีพประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ
ครัวเรือนที่รับประโยชน์จากการใช้พื้นที่จำนวน 931 ครัวเรือน มีมูลค่าประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยรวม เท่ากับ 409.59 ล้านบาท/ปี จำแนกเป็นมูลค่าจากการประมง เท่ากับ 223.41 ล้านบาท/ปี และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เท่ากับ 186.18 ล้านบาท/ปี ตามลำดับ
การจัดการและการคุกคาม
พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามาร้อยยอดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 2238 ในวันที่ 8 มกราคม 2551
การบริหารจัดการมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ คือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อร่วมประสานงานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างอุทยานแห่งชาติฯ และชุมชน การบริหารจัดการพื้นที่มีกฎระเบียบการเข้าใช้พื้นที่อย่างชัดเจน อุทยานแห่งชาติฯ และหน่วยงานท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น กิจกรรมปลูกป่าเป็นแนวต้นน้ำ
อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ได้การบริหารจัดการพื้นที่ในด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาธรรมชาติ และสถานที่พักผ่อนอย่างชัดเจน ได้แก่ การบริการบ้านพัก สถานที่กางเต็นท์ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ และจุดชมวิว
การคุกคามในพื้นที่ พบว่า การคุกคามที่ทำลายคุณค่าต่อพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างรุนแรง คือสภาวะแห้งแล้งทำให้ระบบนิเวศในบึงเปลี่ยนแปลงเป็นระบบน้ำกร่อยหรือเค็ม ส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลง รองลงมาการคุกคามที่ส่งผลต่อพื้นที่ในทางลบเป็นการบุกรุกและรบกวนโดยมนุษย์ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้แก่ การจับปลาจำนวนมาก ครัวเรือนที่อยู่รอบพื้นที่ชุ่มน้ำ ร้อยละ 70 เข้ามาจับสัตว์น้ำบริเวณรอบบึงสามร้อยยอด และการเจาะน้ำบาดาลเพื่อนำน้ำเค็มมาเลี้ยงกุ้งส่งผลให้น้ำเค็มเข้าสู่บึงบัวและทุ่งสามร้อยยอด และการคุกคามที่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำที่พบเห็น คือ การรุกล้ำพื้นที่สร้างบ้านเรือน การใช้พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ เช่น บริเวณถ้ำพระยานคร น้ำเสียจากโรงงานพื้นที่ตอนบนลงสู่คลองเขาแดง น้ำเสียและสารเคมีจากการเพาะเลี้ยงกุ้ง การเลี้ยงสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดในบางส่วนของทุ่งสามร้อยยอด เป็นต้น
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area ManagementEffectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดในวันอังคารที่ 25 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอสามร้อยยอด ชั้น 2 อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 39 คน(รูปที่ 12 และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์ Click