พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

ขอบเขตและที่ตั้ง
        พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีพื้นที่รวม 250,000 ไร่ หรือ 40,000 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
        ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นอ่าวตื้นล้อมรอบด้วยป่าชายเลนต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ ส่วนที่เป็นป่าชายเลนมีเนื้อที่ประมาณ 132,381 ไร่ และส่วนที่เป็นหาดเลนมีเนื้อที่ประมาณ 25,300 ไร่ ระดับน้ำในอ่าวตื้นประมาณ 1-4 เมตร ระดับน้ำทะเลขึ้นลงระหว่าง 1-3 เมตร อ่าวพังงาประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 42 เกาะ เช่น เกาะเขาเต่า เกาะพระอาดเฒ่าเกาะมะพร้าว เกาะปันหยี เกาะเขาพิงกัน เป็นต้น มีภูเขาหินตะกอน หินแปร แทรกสลับอยู่เป็นแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเขาหินปูนซึ่งแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ กระจายอยู่ทั่วไปในอ่าวพังงา พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ร้อยละ 57.99 ของพื้นที่ทั้งหมดเป็น ทะเล คิดเป็นเนื้อที่ 367,608 ไร่ รองลงมา เป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล มีเนื้อที่ 98,260ไร่ และพื้นที่ป่าชายเลน เนื้อที่ 83,420 ไร่ ตามลำดับ ที่เหลือเป็น ป่าดิบ แม่น้ำลำคลอง ชุมชนและสิ่งก่อสร้าง ไม้ยืนต้น ทุ่งหญ้า นาข้าว หาดทราย ป่าชายหาด บ่อลูกรัง ที่ลุ่ม เป็นต้น

สถานภาพทางชีวภาพ
        ทรัพยากรป่าไม้   พบพรรณไม้ รวม 385 ชนิด จาก 296 สกุล 103 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก เช่น มะม่วงหิมพานต์ Anacardium occidentale L. ลำดวน Melodorum fruticosum Lour. หูกวาง Terminalia catappa L. สนประดิพัทธ์ Casuarina junghuhniana Miq. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. ประดู่บ้าน Pterocarpus indica Willd. อินทรชิต Lagerstroemia loudonii Teijsm. & Binn. สะเดา Azadirachta indica A.Juss. var. siamensis Valeton มะพร้าว Cocos nucifera L. var. nucifera และปาล์มน้ำมัน Elaeis guineensis Jacq.
        พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ ได้แก่ ปรงทะเล Cycas edentata de Laub. นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders จิกเล Barringtonia asiatica (L.) Kurz และเอื้องฝาหอย Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein และพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับนานาชาติ คือ ปรงทะเล Cycas edentata de Laub. และเอื้องฝาหอย Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein รวมทั้งพบพืชถิ่นเดียว คือ เอื้องฝาหอย Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein
        พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 จำนวน ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบต้น Mimosa pigra L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. สาหร่ายหางกระรอก Hydrilla verticillata (L.f.) Royle และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms และพบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 ได้แก่ ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.

        ทรัพยากรสัตว์ป่า   สัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ค่างแว่นถิ่นใต้ (Trachypithecus obscurus) นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata) เลียงผา (Capricornis milneedwardsii) ชะนีมือขาว (Hylobates lar) ลิ่นชวา (Manis javanica) สัตว์จำพวกนก ได้แก่ นกหัวโตมลายู (Charadrius peronii) และสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ เต่าหับ (Cuora amboinensis) เต่าดำ (Siebenrockiella crassicollis) และเต่าใบไม้ (Cyclemys dentata)

        ทรัพยากรปลา   พบปลาชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) ได้แก่ ปลาดุกด้าน Clarias batrachus ปลาดุกอุย Clarias macrocephalus ปลากดทะเล Netuma thalassina ปลาบู่ใส Neostethus bicornis และปลาบู่สมิธ Phenacostethus smithi และชนิดที่ถูกคุกคามในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (NT-Near Threatened) ได้แก่ ปลาจาละเม็ดขาว Pampus argenteus
        พบชนิดพันธุ์ประจําถิ่น (Endemic species) ที่เป็นปลาเฉพาะถิ่นของประเทศไทย ได้แก่ ปลาบู่สมิธ Phenacostethus smithi นอกจากนี้พบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว คือ ปลาหมอเทศ Oreochromis mossambicus และปลานิล Oreochromis niloticus

        ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน   พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 496 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Mollusca รองลงมา คือไฟลัม Arthropoda และ ปริมาณความชุกชุมน้อยที่สุดอยู่ในไฟลัม Annelida

        ทรัพยากรปะการังและหญ้าทะเล   ปะการังที่พบในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณเกาะต่าง ๆ ได้แก่ เกาะละวะใหญ่เกาะโบยใหญ่ เกาะโบยน้อย เกาะทอง เกาะแดง เกาะกูดูเล็ก เกาะกูดูใหญ่ เกาะโรย เกาะเหลาบาตัง เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ นั้น พบว่า แนวปะการังส่วนใหญ่อยู่ในสถานภาพเสียหายมาก คือ เสียหายมากร้อยละ 55 เสียหายร้อยละ 25 ดีปานกลางร้อยละ10 ดีร้อยละ 5 และดีมากร้อยละ 5 ความเสื่อมโทรมของแนวปะการังเกิดขึ้นจากสาเหตุ 2 ประการ คือ จากธรรมชาติ เช่น การเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว การได้รับอิทธิพลจากตะกอนและน้ำจืด และจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การพัฒนาชายฝั่ง การท่องเที่ยว
        พบปะการังที่อยู่ในสถานภาพดีมากอยู่บริเวณเกาะเหลาบาดัง จำนวน 21 ชนิด ได้แก่


        สำหรับแนวปะการังที่อยู่ในสภาพดีปานกลางอยู่ในพื้นที่เกาะยาวน้อย ปะการังที่พบ คือ ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites pentagona ) ปะการังโขด (Porites lutea ) ปะการังดอกไม้ทะเล (Goniopora sp. ) และปะการังวงแหวน (Favia spp.) ส่วนที่เหลือเกาะอื่นๆ พบ แนวปะการังมีสถานภาพเสียหายถึงเสียหายมาก
        ในพื้นที่เกาะต่าง ๆ พบว่า เกาะเหลาบาตังมีปะการังปกคลุมพื้นที่มากที่สุด พิจารณาโดยรวมชนิดของปะการังที่ปกคลุมพื้นที่ พบว่า ปะการังโขด (Porites lutea) ปกคลุมพื้นที่มากที่สุด ถึงร้อยละ 44.19 รองลงมา ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea spp.) ร้อยละ 37.84 ปะการังสมองร่องเล็ก (Platygyra pini) ร้อยละ 30.43 ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) ร้อยละ 23.94 และ ปะการังวงแหวน (Favia spp.) ร้อยละ 21.73 ตามลำดับ
        พบแหล่งหญ้าทะเลมีสถานภาพ 3 ระดับ คือ ระดับสมบูรณ์ดี บริเวณเกาะละวะใหญ่ และอ่าวโล๊ะปาไล แหลมหาด บริเวณเกาะยาวใหญ่ ระดับสมบูรณ์ปานกลาง ได้แก่ บริเวณอ่าวโล๊ะโป๊ะใหญ่ และอ่าวสน เกาะยาวใหญ่ ระดับคงสภาพตามธรรมชาติ ได้แก่ บริเวณอ่าวพังงาตอนใน สำหรับสถานภาพตาม IUCN Red List พบว่าหญ้าทะเลทุกชนิดอยู่ในกลุ่มที่เป็นกังวลน้อยที่สุด (LC) โดยทั่วไปสถานภาพของแหล่งหญ้าทะเลมีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ความเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลเกิดจากธรรมชาติ ได้แก่ ฤดูกาล คลื่นลมมรสุม อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ และจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ การพัฒนาชายฝั่ง การปล่อยน้ำเสีย การทำประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น หญ้าทะเลที่พบ ได้แก่ หญ้าคาทะเล(Enhalus acoroides) หญ้าเงา, หญ้าใบมะกรูด หรือหญ้าอำพัน (Halophila ovalis ) หญ้าชะเงาใบเลื่อย( Cymodocea serrulata)หญ้าชะเงาสีเขียวปลายใบแฉก, หญ้าชะเงาใบแคบหรือหญ้ากุยช่ายทะเล (Halodule uninervis)หญ้าเต่า หรือหญ้าชะเงาเต่า( Thalassia hemprichii) หญ้าผมนาง, หญ้าชะเงาฝอย, หรือหญ้ากุยช่ายเข็ม( Halodule pinifolia)
คุณค่าการใช้ประโยชน์
        จากสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นภูเขาหินตะกอน หินแปรสลับอยู่เป็นแนวยาว มีภูเขาหินปูนแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ กระจายอยู่ทั่วไป สภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมทำให้เกิดเป็น โพรง ถ้ำ การยุบตัวของแผ่นดินทางทิศตะวันตก ทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระ เว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะ ทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม อ่าวพังงาจึงจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติสวยงาม เป็นที่ดึงดูดใจท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก ที่สำคัญยังมีพื้นที่ป่าชายเลนผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ รวมทั้งยังมีเกาะน้อยใหญ่ เรียงรายอยู่โดยรอบ จึงจัดเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าการใช้ประโยชน์ที่สำคัญ คือ ด้านการประมงพื้นบ้าน การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง การท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้
        การพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยประมาณมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาคิดเป็นมูลค่าสูงสุด มีครัวเรือนที่รับประโยชน์จากพื้นที่จำนวน 5,981 ครัวเรือน โดยมูลค่าประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีมูลค่ารวมเท่ากับ 574.18 ล้านบาท/ปี จำแนกเป็นมูลค่าจากการท่องเที่ยว เท่ากับ 358.86 ล้านบาท/ปี การประมงเท่ากับ 143.54 ล้านบาท/ปี และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เท่ากับ 71.77 ล้านบาท/ปี ตามลำดับ

การจัดการและการคุกคาม
        พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1185 ในวันที่ 14 สิงหาคม 2545
        การจัดการพื้นที่พื้นที่ชุ่มน้ำ มีหน่วยงานรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลในพื้นที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ นอกจากนั้นยังมีมาตรการทางกฎหมายในการบริหารจัดการพื้นที่ ได้แก่ การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 บริเวณชายฝั่งของอุทยานแห่งชาติ มีการประกาศเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 และเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
        การคุกคามในพื้นที่สาเหตุหลักจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ จากการท่องเที่ยว และจากการคุกคามเชิงนิเวศต่อทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ชุ่มน้ำ พบว่า มีการคุกคามสูงทำลายคุณค่าต่อพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างรุนแรง ได้แก่ การคุกคามจากการท่องเที่ยว รองลงมา คือ การคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำในทางลบ ได้แก่ การคุกคามเชิงนิเวศต่อทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ชุ่มน้ำ การบุกรุกเพื่อสร้างบ้านเรือน การใช้พื้นที่เพื่อโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ และการคุกคามที่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้แก่ จากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิต เช่น การเก็บของป่า และการทำประมงพื้นบ้าน การใช้พื้นที่เพื่อการพักผ่อนและนันทนาการ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถามซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมชน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาในวันอังคารที่ 22สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า ชั้น 2 อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 49 คน (รูปที่ 11และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์   Click