พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
ขอบเขตและที่ตั้ง
พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง อยู่ในเขตตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพื้นที่ทั้งหมด 63,750 ไร่ หรือ 10,200 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ชุ่มน้ำ ประกอบด้วย เกาะต่างๆ ประมาณ 42 เกาะที่มีขนาดเล็กและขนาดกลาง อยู่เป็นกลุ่มเกาะกลางทะเล วางเรียงตัวในแนวเหนือ -ใต้ ส่วนใหญ่เป็นเขาหินปูนสูงชันซึ่งเป็นแนวหน้าผาสูงชันตั้งดิ่งจากพื้นที่น้ำทะเล มีพื้นที่น้ำทะเลล้อมรอบประมาณ 52,000 ไร่ หรือร้อยละ 82 ของพื้นที่ทั้งหมด อยู่ในเขตน้ำตื้นใกล้ฝั่ง มีความลึกเฉลี่ยของน้ำประมาณ 10 เมตร และได้รับอิทธิพลของตะกอนจากแม่น้ำตาปี ลักษณะชายฝั่งมีความสูงชัน มีแนวปะการังก่อตัวเป็นแนวแคบๆ เป็นแหล่งปะการังที่งดงามที่สุดของประเทศไทยจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีชื่อเสียงด้านความงดงามของภูมิทัศน์แห่งหนึ่งของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล มีเนื้อที่ 297,422 ไร่ (คิดเป็นสัดส่วน 94.69 ของพื้นที่ทั้งหมด) รองลงมา เป็นป่าดิบ โดยมีเนื้อที่ 13,216 ไร่ ที่เหลือเป็นไม้ยืนต้น แม่น้ำลำคลอง หาดทราย และชุมชนและสิ่งก่อสร้าง
สถานภาพทางชีวภาพ
ทรัพยากรป่าไม้ พบพรรณไม้รวม 392 ชนิด จาก 298 สกุล 109 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก เช่น มะม่วงหิมพานต์ Anacardium occidentale L. สนประดิพัทธ์ Casuarina junghuhniana Miq. ราชพฤกษ์ Cassia fistula L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. ประดู่บ้าน Pterocarpus indica Willd. อินทรชิต Lagerstroemia loudonii Teijsm. & Binn. สะเดา Azadirachta indica A.Juss. var. siamensis Valeton และมะพร้าว Cocos nucifera L. var. nucifera พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ ได้แก่ ปรงทะเล Cycas edentata de Laub. กระดังงาป่า Monoon lateriflorum Blume นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders จิกเล Barringtonia asiatica (L.) Kurz รองเท้านารีอ่างทอง Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein var. ang-thong (Fowlie) Braeb และรองเท้านารีดอกขาว P. niveum (Rchb.f.) Stein และพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับนานาชาติ คือ ปรงทะเล Cycas edentata de Laub. รองเท้านารีอ่างทอง Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein var. ang-thong (Fowlie) Braeb และรองเท้านารีดอกขาว P. niveum (Rchb.f.) Stein รวมทั้ง ยังพบพืชถิ่นเดียว คือ รองเท้านารีอ่างทอง Paphiopedilum godefroyae (God.-Leb.) Stein var. ang-thong (Fowlie) Braeb
พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบต้น Mimosa pigra L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms และพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 ได้แก่ ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.
ทรัพยากรสัตว์ป่า สัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ค่างแว่นถิ่นใต้ (Trachypithecus obscurus) นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata) โลมาหลังโหนก (Sousa chinensis) และสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ งูจงอาง (Ophiophagus Hannah) เต่าตะนุ (Chelonia mydas) เต่ากระ (Eretmochelys imbricata)
ทรัพยากรปลา พบปลาชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) ได้แก่ ปลายอดจาก Muraenesox cinereus ปลาแมวหูดำ Setipinna melanochir ปลาดุกอุย Clarias macrocephalus ปลาดุกลำพัน Clarias nieuhofii แ ละปลาม้าน้ำปากยาว Hippocampus trimaculatus
ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 756 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Mollusca รองลงมา คือไฟลัม Arthropoda และไฟลัม Annelida ปริมาณความชุกชุมน้อยที่สุดอยู่ในไฟลัม Echinodermata
ทรัพยากรปะการังและหญ้าทะเล ปะการังในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณเกาะประมาณ 42 เกาะที่อยู่โดยรอบ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง พบว่า แนวปะการังมีสถานภาพดีมากอยู่บริเวณเกาะแม่เกาะ ด้านตะวันออกและตะวันตก และแนวปะการังสภาพดีอยู่ที่บริเวณเกาะหินดับ/เกาะวัวตาหลับ (บริเวณอ่าวทองหลางและอ่าวตาช้วง) ส่วนที่เหลือเกาะอื่นๆ แนวปะการังมีสถานภาพเสียหายถึงเสียหายมาก เมื่อพิจารณาสถานภาพตาม IUCN ปะการังที่มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม ได้แก่ ปะการังดาวใหญ่(Diploastrea heliopora) และปะการังกลุ่มที่เป็นกังวลน้อย ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea)
พบปะการังโขด (Porites lutea) ปกคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำมากที่สุด ถึงร้อยละ 74 รองลงมา ปะการังกาแลคซี่ (Galaxea sp.) ร้อยละ 61.3 ปะการังช่องเหลี่ยม(Favites spp.) ร้อยละ 59.5 ปะการังเคลือบหนาม (Oxypora sp.) ร้อยละ 53 ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) ร้อยละ 8.8 ที่เหลือปกคลุมพื้นที่กระจัดกระจาย ได้แก่ ปะการังดอกไม้ทะเล(Goniopora sp.) ปะการังดอกกระหล่ำ(Pocillopora sp.) ปะการังดอกเห็ด (Fungia sp.) ปะการังดาวใหญ่(Diploastrea heliopora) ปะการังรังผึ้ง(Goniastrea pectinata) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona decussata) ปะการังสมองร่องเล็ก (Platygyra sp.) ปะการังสมองร่องใหญ่(Symphyllia sp.) ปะการังจาน (Turbinaria sp.) ปะการังช่องเล็กแบบแผ่น (Montipora sp.) ปะการังดาวเล็ก (Cyphastrea sp.) ปะการังถ้วยสมอง(Lobophyllia sp.) ปะการังถ้วยหนาม (Cynarina sp.) ปะการังแผ่นเปลวไฟ (Pactinia sp.) ปะการังโพดาเบเซีย(Podabacia sp.) ปะการังลูกโป่ง(Physogyra sp.) ปะการังลูกโป่งใหญ่ (Plerogyra sp.) ปะการังวงแหวน(Favia sp.) ปะการังหนามขนุน(Hydnophpra sp.)
พบหญ้าทะเลบริเวณทิศตะวันออกของเกาะแม่เกาะ (อ่าวถ้ำร้าง) เพียงชนิดเดียว คือ หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) ปกคลุมพื้นที่ร้อยละ 29 มีความกว้างประมาณ 100 เมตร ความลึกอยู่ในช่วง 1-2 เมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นทราย มีความสมบูรณ์ปานกลาง และจัดอยู่ในสถานภาพกลุ่มที่เป็นกังวลน้อยที่สุด (Least Concerned; LC) ตามบัญชีสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ของ IUCN Red list คุณค่าการใช้ประโยชน์
คุณค่าการใช้ประโยชน์
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จึงจัดเป็นแหล่งที่มีคุณค่าการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว/สุนทรียภาพ และแหล่งเรียนรู้ มีความสำคัญเป็นแหล่งธรรมชาติที่สวยงาม จากการพัฒนาการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ เกาะสมุยและเกาะพะงัน ส่งผลให้เกิดขยายตัวของนักท่องเที่ยวเข้ามายังพื้นที่หมู่เกาะอ่างทอง โดยประมาณมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติอ่างทอง ได้ประโยชน์จากรายได้ตีมูลค่าทางตลาด (market oriented approach) เป็นมูลค่าประโยชน์ที่เป็นตัวเงินตามกลไกตลาด มีมูลค่าเท่ากับ 638.0 ล้านบาท/ปี
การจัดการและการคุกคาม
พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1184 ในวันที่ 14 สิงหาคม 2545
การจัดการพื้นที่พื้นที่ชุ่มน้ำ มีหน่วยงานรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลในพื้นที่ส่วนอุทยานแห่งชาติ นอกจากนั้นยังมีมาตรการทางกฎหมายในการบริหารจัดการพื้นที่ ได้แก่ การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 บริเวณชายฝั่งของอุทยานแห่งชาติ มีการประกาศเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตามพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2558 และเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
การจัดการพื้นที่มีการให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ ที่เข้ามาใช้ประโยชน์พื้นที่ โดยการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูและการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ มีการควบคุมการประกอบกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากร เช่น การประกาศแจ้งเตือนการจัดกิจกรรมและนันทนาการบริเวณแนวปะการัง เป็นการลดผลกระทบที่จะส่งผลให้แนวปะการังเกิดความเสียหาย มีการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่ให้เรืออวนลาก อวนรุนเข้ามาดำเนินการทำการประมงในเขตอุทยานแห่งชาติ และการสร้างความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ เช่น ผู้ประกอบเรือให้มีการจัดที่กักเก็บของเสียบนเรือและห้ามเรือที่ไม่มีที่กักเก็บของเสียเข้าในอุทยานแห่งชาติ และการงดให้อาหารปลาของนักท่องเที่ยว เป็นต้น
พบการคุกคามจากกิจกรรมท่องเที่ยวและการบุกรุกพื้นที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การทิ้งขยะของเสียจากเรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดปะการังฟอกขาว จากตะกอนทั้งตะกอนทางธรรมชาติในหมู่เกาะอ่างทองและตะกอนจากการพัฒนาชายฝั่งในเกาะสมุย และการรุกล้ำพื้นที่ชายหาด เพื่อการใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและความเสื่อมโทรมจากการท่องเที่ยว เช่น การดำน้ำดูปะการัง
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะอ่างทองด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติทางทะเลหมู่เกาะอ่างทองในวันศุกร์ที่ 15กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมปะการัง เทศบาลนครเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 34 คน (รูปที่ 10และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์ Click