พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง
ขอบเขตและที่ตั้ง
พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาเกลือ ตำบลลิบง ตำบลหาดสำราญ อำเภอสิเกา อำเภอปะเหลียน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีพื้นที่ 414,456.3 ไร่ หรือ 66,313 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
ลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วยระบบนิเวศ 3 ลักษณะคือ แม่น้ำ ปากแม่น้ำ ปลาชายฝั่ง ในพื้นที่จังหวัดตรัง จัดเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศและทางชีวภาพสูง ประกอบด้วย ป่าชายเลน แหล่งน้ำกร่อย ชายหาด หาดหิน แนวปะการัง และแหล่งหญ้าทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์ที่หายากและอยู่ในสถานภาพถูกคุกคามหลายชนิด การใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าพรุ เนื้อที่ 171,054 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 35.59 ของพื้นที่ทั้งหมด) รองลงมา ไม้ผล มีเนื้อที่ 136,273 ไร่ ที่เหลือเป็นนาข้าว ไม้ยืนต้น ชุมชนและสิ่งก่อสร้าง ทุ่งหญ้า ที่ลุ่ม
สถานภาพทางชีวภาพ
ทรัพยากรป่าไม้ พบพรรณไม้ รวม 361 ชนิด จาก 278 สกุล 103 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก เช่น มะม่วงหิมพานต์ Anacardium occidentale L. หูกวาง Terminalia catappa L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. สะเดา Azadirachta indica A.Juss. var. siamensis Valeton มะพร้าว Cocos nucifera L. var. nucifera และปาล์มน้ำมัน Elaeis guineensis Jacq. พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ ได้แก่ นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders และจิกเล Barringtonia asiatica (L.) Kurz
พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบยักษ์ Mimosa pigra L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. สาหร่ายหางกระรอก Hydrilla verticillata (L.f.) Royle และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms และพบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 ได้แก่ ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.
ทรัพยากรสัตว์ป่า พบสัตว์ป่าที่ได้รับการจัดสถานภาพการอนุรักษ์ ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ค่างดำ(Presbytis femoralis) ค่างแว่นถิ่นใต้ (Trachypithecus obscurus) นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata ) โลมาปากขวด(Tursiops aduncus) พะยูน (Dugong dugon) เลียงผา(Capricornis milneedwardsii) เสือไฟ (Pardofelis temminckii) โลมาอิรวดี (Orcaella brevirostris ) สัตว์จำพวกนก ได้แก่ นกทะเลขาเขียวลายจุด(Tringa guttifer ) นกกระสาคอดำ (Ephippiorhynchus asiaticus ) นกตะกรุม (Leptoptilos javanicus) และสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ งูจงอาง (Ophiophagus Hannah) เต่าตะนุ (Chelonia mydas) เต่าหับ(Cuora amboinensis) เต่ากระ (Eretmochelys imbricata) เต่าบัว (Hieremys annandalii) และเต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea)
ทรัพยากรปลา พบปลาชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) ได้แก่ ปลากระเบนบัว Himantura bleekeri ปลาฉลามหูดำ Carcharhinus sorrah และปลาดุกอุย Clarias macrocephalus ชนิดที่ถูกคุกคามในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (NT-Near Threatened) ได้แก่ ปลากะรังปากแม่น้ำ Epinephelus coioides นอกจากนี้ ยังพบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว คือ ปลาหมอเทศ Oreochromis mossambicus และปลานิล Oreochromis niloticus
ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 1,674 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Mollusca รองลงมา คือไฟลัม Arthropoda และปริมาณความชุกชุมน้อยที่สุดอยู่ในไฟลัม Cnidaria
ทรัพยากรปะการังและหญ้าทะเล ปะการังในพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณเกาะที่อยู่โดยรอบ พบว่าแนวปะการังมีสถานภาพดีปานกลาง และมีเสียหาย พิจารณาสถานภาพตาม IUCN ปะการังที่มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม ได้แก่ ปะการังดาวใหญ่(Diploastrea heliopora) และปะการังกลุ่มที่เป็นกังวลน้อย ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea)
พบปะการังโขด (Porites lutea) ปกคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำมากที่สุด (ร้อยละ 50) ที่เหลือปกคลุมพื้นที่กระจัดกระจาย ได้แก่ ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) ปะการังช่องเหลี่ยม(Favites spp.) ปะการังดอกไม้ทะเล(Goniopora sp.) ปะการังดอกกระหล่ำ(Pocillopora sp.) ปะการังดอกเห็ด (Fungia sp.) ปะการังดาวใหญ่(Diploastrea heliopora)ปะการังผิวเกร็ดน้ำแข็ง(Montipora sp.) ปะการังรังผึ้ง(Goniastrea pectinata) ปะการังลายดอกไม้(Pavona decussata) ปะการังลายลูกฟูก(Pachyseris rugosa) ปะการังลายหินอ่อน(Gardineroseris sp.)ปะการังวงแหวน(Favia sp.)ปะการังสมองร่องเล็ก (Platygyra sp.) ปะการังสมองร่องใหญ่(Symphyllia sp.)
พบสถานภาพหญ้าทะเลมีความสมบูรณ์ดีบริเวณเกาะมุกด์ ปกคลุมพื้นที่ถึงร้อยละ 50-70 ได้แก่ หญ้าเงาแคระ,หญ้าใบพาย (Halophila beccarii) หญ้าเงา,หญ้าใบมะกรูดหรือหญ้าอำพัน (Halophila ovalis) หญ้าเงาแคระ, หญ้าใบพาย (Halophila beccarii) หญ้าเงาใบเล็ก (Halophila minor ) หญ้าชะเงาใบมน( Cymodocea rotundata) หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย( Cymodocea serrulata) หญ้าใบสน หรือหญ้าต้นหอมทะเล( Syringodium isoetifolium) และปะการังมีสถานภาพเสื่อมโทรมบริเวณเกาะนก ได้แก่ หญ้าเงา,หญ้าใบมะกรูด หรือหญ้าอำพัน (Halophila ovalis) หญ้างอ, หญ้าชะเงาหรือหญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides) และหญ้าผมนาง, หญ้าชะเงาฝอย, หรือหญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia)
คุณค่าการใช้ประโยชน์
พื้นที่มีแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำและป่าชายเลนที่สมบูรณ์ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เป็นแหล่งประมงและแหล่งจับสัตว์น้ำที่สำคัญ นอกจากนั้น ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลหายาก/พื้นถิ่น แหล่งหญ้าทะเล แหล่งอาศัยของพะยูนสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ แหล่งหอยหายากใกล้จะสูญพันธุ์ (หอยตะเภา) รวมทั้ง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทิวทัศน์สวยงามมาก มีความสำคัญต่อธุรกิจการท่องเที่ยว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมโดยตลอดส่งผลให้มีขยายตัวทางการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
พื้นที่ชุ่มน้ำมีคุณค่าการใช้ประโยชน์ทางสังคม ในด้านการดำรงชีวิต การท่องเที่ยว/นันทนาการ ด้านประวัติศาสตร์/วัฒนธรรม/ประเพณีท้องถิ่น และด้านการเรียนรู้ รวมทั้ง ด้านเศรษฐกิจเป็นแหล่งที่สร้างรายได้จากการใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวพบว่าอุทยานแห่งชาติมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นทุกปี การเดินทางท่องเที่ยวจึงส่งผลให้เกิดรายได้ให้กับคนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ 14,228 ครัวเรือน มีมูลค่ารวมเท่ากับ 549 ล้านบาท/ปี ซึ่งได้จากการประมง มีมูลค่าเท่ากับ 511.95 ล้านบาท/ปี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีมูลค่าเท่ากับ 2.90 ล้านบาท/ปี และการท่องเที่ยว มีมูลค่าเท่ากับ 34.15 ล้านบาท/ปี
การจัดการและการคุกคาม
พื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง-ปากน้ำตรัง ได้รับการขึ้นทะเบียนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1182 ในวันที่ 14 สิงหาคม 2545
การจัดการพื้นที่พื้นที่ชุ่มน้ำ มีหน่วยงานรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดูแลในพื้นที่ส่วนอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กรมประมง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานท้องถิ่น ดูแลพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำตรัง, กรมทรัพยากรชายฝั่งทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมเจ้าท่า และหน่วยงานท้องถิ่น ดูแลบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล (หมู่เกาะลิบง) โดยใช้พ.ร.บ.ของแต่ละหน่วยงานเป็นมาตรการทางกฎหมาย
สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ด้านการท่องเที่ยวซึ่งในพื้นที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การท่องเที่ยวจึงเน้นการให้ความรู้และความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมการมีส่วนร่วม ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน กลุ่มอนุรักษ์ทะเล กลุ่มอนุรักษ์ปลาพะยูน กิจกรรมปลูกป่า /ปล่อยปลา /ปลูกหญ้าทะเล เป็นต้น
ปัจจุบันพบการคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ได้แก่ การใช้พื้นที่เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างท่าเรือขนาด 7 x 25 เมตร ที่หมู่เกาะลิบง การใช้พื้นที่กิจกรรมนันทนาการและการท่องเที่ยว มลภาวะที่นำเข้าและถูกสร้างขึ้นภายในพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ขยะจากครัวเรือนที่ไม่มีการคัดแยกขยะที่เกาะลิบง ขยะที่พัดมาจากแม่น้ำตรังขึ้นสู่ฝั่งบริเวณหาดเจ้าสำราญ และน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มจากพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำตรังไหลลงสู่ปากแม่น้ำตรังส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงปลาและหอยในกระชัง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดเจ้าสำราญ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง - ปากน้ำตรังด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม - เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง - ปากน้ำตรังในวันพฤหัสบดีที่ 24สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอกันตัง ตำบลกันตัง อำเภอกันตังจังหวัดตรัง โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 46 คน (รูปที่ 12 และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์ Click