พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย



ขอบเขตและที่ตั้ง
        พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านแซว ตำบลป่าสัก ตำบลโยนก ตำบลเวียง ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน ตำบลโชคชัย ตำบลปงน้อย ตำบลหนองป่าก่อ อำเภอดอยหลวง ตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมืองเชียงราย ตำบลจอมสวรรค์ ตำบลจันจว้า ตำบลจันจว้าใต้ ตำบลท่าข้าวเปลือก ตำบลป่าซาง ตำบลแม่คำ ตำบลแม่จัน ตำบลศรีค้ำ ตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน และตำบลดงหาวัน อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่รวมทั้งหมด 2,712.5 ไร่ หรือ 434 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
        พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย มีลักษณะเป็นแหล่งน้ำประเภทหนองบึงน้ำจืดขนาดเล็ก เป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำย่อยเชียงแสนและทะเลสาบเชียงแสน(หนองบงคาย) พื้นที่แอ่งเชียงแสนเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยเนินเขา ยกเว้นด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบเปิดโล่งออกสู่แม่น้ำโขง ตั้งอยู่บนพื้นที่ล่างสุดของลุ่มน้ำแม่กก จึงเป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างสูงต่อระบบน้ำของลุ่มน้ำ ทั้งทางด้านการเก็บกักน้ำ การจัดการตะกอนและของเสีย รวมทั้งบทบาทในระบบนิเวศด้านอื่นๆ ของพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กก หนองบงคายเกิดจากการควบคุมระบบน้ำ พื้นที่บริเวณนี้เดิมเป็นที่ลุ่ม ประกอบด้วยหนองน้ำขนาดเล็ก และได้มีการจัดทำฝายควบคุมยกระดับน้ำ ทำให้เป็นพื้นที่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำทั้งปี แหล่งน้ำที่สำคัญนอกจากน้ำผิวดินในพื้นที่รับน้ำ ยังพบว่าระดับน้ำใต้ดินบริเวณขอบน้ำมีอยู่ในระดับตื้นมีน้ำซับเข้าพื้นที่บึงกระจายอยู่ทั่วไป และยังมีน้ำพุจากใต้ดินเข้าหนองน้ำตลอดเวลา
        พื้นที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้ และจัดอยู่ในมาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดินประเภทที่ 3 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท และสามารถเป็นประโยชน์เพื่อการอุปโภคและบริโภคโดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำทั่วไปก่อน หรือเพื่อการเกษตร

สถานภาพทางชีวภาพ
        ทรัพยากรป่าไม้   พบพรรณไม้รวม 411 ชนิด จาก 326 สกุล 117 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก ได้แก่ กาละลองคำ Radermachera ignea (Kurz) Steenis หูกวาง Terminalia catappa L. ยางนา Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don ตะเคียนทอง Hopea odorata Roxb. สัก Tectona grandis L. ราชพฤกษ์ Cassia fistula L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. พะยูง Dalbergia cochinchinensis Pierre และสะเดา Azadirachta indica A.Juss. var. siamensis Valeton
        พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ 3 ชนิด ได้แก่ นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders ไชยวาน Cephalanthus tetrandra (Roxb.) Ridsdale & Bakh.f. และสรัสจันทร Burmania coelestis D.Don
        พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. บัวตอง Tithonia diversifolia (Hemsl.) A.Gray หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบต้น Mimosa pigra L. ผกากรอง Lantana camara L. จอก Pistia stratiotes L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 ได้แก่ ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.

        ทรัพยากรสัตว์ป่า    เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญนกโดยเฉพาะนกน้ำ ได้รับการจัดเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก (IBA) ในประเทศไทยอันดับที่ TH007 พบสัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วยนก 16 ชนิด ได้แก่ เป็ดหงส์ (Sarkidiornis melanotos) นกนางนวลแกลบแม่น้ำ (Sterna aurantia) นกกาน้ำใหญ่(Phalacrocorax carbo) นกปากช้อนหน้าดำ ( Platalea minor ) นกกระสาแดง(Ardea purpurea ) เป็ดดำหัวดำ (Aythya baeri ) เป็ดหน้าเหลือง (Sibirionetta ) เป็ดดำหัวสีน้ำตาล (Aythya nyroca ) นกอินทรีปีกลาย (Clanga clanga ) เหยี่ยวเพเรกริน (Falco peregrinus ) นกปากซ่อมพง (Gallinago nemoricola )นกอ้ายงั่ว (Anhinga melanogaster ) นกกระแตหาด (Vanellus duvaucelii ) นกยอดหญ้าหลังดำ (Saxicola jerdoni ) นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง (Emberiza aureola ) และสัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ ตะพาบน้ำ(Amyda cartilaginea)

        ทรัพยากรปลา    พบปลาชนิดที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR-Critically endangered species ) ได้แก่ ปลาบึก Pangasianodon gigas Chevey) ชนิดที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN-Endangered species) ได้แก่ ปลาตองลาย Chitala blanci ปลาตะโกกหน้าสั้น Albulichthys albuloides ปลายี่สก Probarbus jullieni ปลานวลจันทร์น้ำจืด Cirrhinus microlepis และปลาสวาย Pangasianodon hypophthalmus และชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) ได้แก่ ปลาบ้า Leptobarbus hoeveni ปลาสะอี Mekongina erythrospila ปลาแขยงธง Heterobagrus bocourti ปลาก้างพระร่วง Kryptopterus bicirrhis ปลาดุกด้าน Clarias batrachus ปลาดุกอุย Clarias macrocephalus ปลาจิ้มฟันจระเข้แคระ Indostomus spinosus และปลากระทิงไฟ Mastacembelus erythrotaenia และชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (NT-Near Threatened) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ปลาลิ่น Hypophthalmichthys molitrix และปลาแกง Cirrhinus molitorella

        ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน    พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 133 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Mollusca รองลงมา คือ ไฟลัม Arthropoda
คุณค่าการใช้ประโยชน์
        เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ชุมชนได้ใช้ประโยชน์เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรกรรม เป็นพื้นที่เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ จัดเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าความสำคัญต่อระบบนิเวศ และด้านความเชื่อและพิธีกรรมมีประเพณีสู่ขวัญนกมีคุณค่าทางสังคม ด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนดั้งเดิม ทางด้านเศรษฐกิจจัดเป็นแหล่งทำมาหากินและสร้างรายได้ให้กับประชาชน ผลประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำกระจายไปยังชุมชนโดยรอบ คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 139.91 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน เท่ากับ 149,481 บาท/ปี

การจัดการและการคุกคาม
        พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1101 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2544
        การบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย มีหน่วยงานรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รับผิดชอบการใช้พื้นที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน มีการจัดทำแนวเขตที่ชัดเจนทั้งส่วนพื้นดิน (หลักเขต) และพื้นน้ำ(ทุ่นลอยน้ำ) พื้นที่บางส่วนมีแนวถนนเป็นเขตกั้นพื้นที่ ซึ่งชุมชนส่วนใหญ่รับทราบแนวเขต ในทางปฏิบัติหากมีปัญหาด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่ระหว่างชุมชนจะมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อหาข้อยุติ พบว่าพื้นที่มีปัญหามากจากการคุกคามของวัชพืช (ผักตบชวา) อยู่อย่างหนาแน่น มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงในพื้นที่เกษตรกรรม (สวนลิ้นจี่ ไร่สับปะรด) เกิดปัญหาสารเคมีการตกค้างและบางส่วนชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ การปล่อยน้ำเสียจากโรงแรมและรีสอร์ท ปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินลงสู่แหล่งน้ำส่งผลให้แหล่งน้ำตื้นเขิน และการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย เป็นต้น
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย ด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 35 คน (รูปที่ 10และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์   Click