พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่
ขอบเขตและที่ตั้ง
ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอเกาะลันตา อำเภอคลองท่อม และอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่รวมทั้งหมด 133,118.8 ไร่ หรือ 21,299 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ มีลักษณะเป็นปากแม่น้ำครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่สุสานหอย 75 ล้านปี ป่าชายเลน หาดเลน หาดทราย ลำคลองน้อยใหญ่หน้าเมืองกระบี่ ถึงป่าชายเลนและหญ้าทะเลผืนใหญ่ในบริเวณเกาะศรีบอยา ป่าชายเลนปากแม่น้ำกระบี่ สภาพพื้นที่มีความสมบูรณ์อย่างหนาแน่นและสวยงาม มีลำคลองหลายสายไหลลงสู่ทะเลปกคลุมด้วยป่าชายเลนและหาดเลน ที่ยาวตามแนวชายฝั่งทะเลประมาณ 26 กิโลเมตร โดยหาดเลนจะปรากฏเมื่อน้ำทะเลลง หาดเลนบางแห่งมีความกว้างประมาณ 2 กิโลเมตรจากชายฝั่ง หาดเลนระหว่างปากน้ำกระบี่กับคลองยวนมีขนาดประมาณ 9.3 ตารางกิโลเมตร (5,812.5 ไร่) เมื่อน้ำทะเลลดลงต่ำสุดระดับน้ำโดยเฉลี่ยลึก 2 เมตร บริเวณร่องน้ำมีความลึกประมาณ 6-10 เมตร
สถานภาพทางชีวภาพ
ทรัพยากรป่าไม้ พบพรรณไม้รวม 375 ชนิด จาก 291 สกุล 107 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก เช่น มะม่วงหิมพานต์ Anacardium occidentale L. มะม่วง Mangifera indica L. ลำดวน Melodorum fruticosum Lour. ปีบ Millingtonia hortensis L.f. ชมพูพันธุ์ทิพย์ Tabebuia rosea (Bertol.) DC. สนประดิพัทธ์ Casuarina junghuhniana Miq. ตะเคียนทอง Hopea odorata Roxb. ราชพฤกษ์ Cassia fistula L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. ประดู่บ้าน Pterocarpus indica Willd. อินทรชิต Lagerstroemia loudonii Teijsm. & Binn. สะเดา Azadirachta indica A.Juss. var. siamensis Valeton กระท้อน Sandoricum koetjape (Burm.f.) Merr. และมะพร้าว Cocos nucifera L. var. nucifera
พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ 3 ชนิด ได้แก่ ปรงทะเล Cycas edentata de Laub. นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders และจิกเล Barringtonia asiatica (L.) Kurz พืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับนานาชาติ 1 ชนิด คือ ปรงทะเล Cycas edentata de Laub. รวมทั้ง พืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 จำนวน 11 ชนิด ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบต้น Mimosa pigra L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. สาหร่ายหางกระรอก Hydrilla verticillata (L.f.) Royle และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 จำนวน 2 ชนิด ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.
ทรัพยากรสัตว์ป่า พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จัดเป็นพื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน ในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก–ออสเตรเลีย พบนกชายเลนทั้งหมด 27 ชนิด มี 25 ชนิดเป็นนกอพยพ ชนิดที่มีความสำคัญ เช่น นกหัวโตทรายเล็ก (Monglolian Plover) และนกทะเลขาเขียวลายจุด (Nordmann’s Greenshank) โดยนกทะเลขาเขียวลายจุดเป็นชนิดพันธุ์ที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์
พบสัตว์ป่าที่ได้รับการจัดสถานภาพอย่างน้อย 13 ชนิด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 4 ชนิด ได้แก่ นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata ) พะยูน (Dugong dugon ) โลมาปากขวด (Tursiops aduncus ) โลมาอิรวดี (Orcaella ) สัตว์จำพวกนก 5 ชนิด ได้แก่ นกทะเลขาเขียวลายจุด (Tringa guttifer ) นกยางจีน(Egretta eulophotes) นกนางนวลแกลบสีกุหลาบ (Sterna dougallii )นกฟินฟุต(Heliopais personata ) นกจับแมลงป่าชายเลน (Cyornis rufigastra) และสัตว์เลื้อยคลาน 4 ชนิด ได้แก่ งูจงอาง(Ophiophagus hannah) เต่าตะนุ (Chelonia mydas) เต่ากระ (Eretmochelys ) และจระเข้น้ำเค็ม(Crocodylus porosus )
ทรัพยากรปลา พบปลาทั้งสิ้น 164 ชนิด จาก 73 วงศ์ ซึ่งเป็นชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) ได้แก่ ปลากระเบนบัว Himantura bleekeri ปลาฉลามหูดำ Carcharhinus sorrah ปลายอดจาก Muraenesox cinereus และปลาดุกอุย Clarias macrocephalus Günther นอกจากนี้ ยังพบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว 3 ชนิด คือ ปลากดเกราะ Hypostomus plecostomus ปลาหมอเทศ Oreochromis mossambicus และปลานิล Oreochromis niloticus
ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 500 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Mollusca รองลงมา คือ ไฟลัม Arthropoda และปริมาณความชุกชุมน้อยที่สุดอยู่ในไฟลัม Annelida
คุณค่าการใช้ประโยชน์
พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จัดได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าด้านสังคมและวัฒนธรรม ด้านสุนทรียภาพ การท่องเที่ยวและการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติ บริเวณหาดปากแม่น้ำกระบี่เป็นแหล่งนกอพยพที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์มากมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นที่อยู่อาศัยของนกป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำ อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำทะเลและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวได้ว่าปากแม่น้ำกระบี่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นแหล่งดูนกใกล้ตัวเมืองสามารถเข้าถึงได้สะดวกเหมาะสำหรับนักดูนก นักเรียน/นักศึกษาผู้ต้องการศึกษาธรรมชาติ รวมทั้ง คุณค่าทางสังคมความเป็นเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านชุมชนเกาะกลาง ต.คลองประสงค์ อำเภอเมือง และด้านสุนทรียภาพของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่สวยงามของสุสานหอย 75 ล้านปี ชายหาดและป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่ตำบลเกาะศรีบ่อยา เป็นต้น ผลประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำกระจายไปยังชุมชนโดยรอบ คิดเป็นมูลค่าประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ มีมูลค่ารวมเท่ากับ 238.87 ล้านบาท/ปี จำแนกเป็นจากการประมง มีมูลค่าเท่ากับ 210.32 ล้านบาท/ปี การท่องเที่ยว มีมูลค่า 15.25 ล้านบาท/ปี และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีมูลค่า 13.30 ล้านบาท/ปี
การจัดการและการคุกคาม
พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1100 ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2544
การบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำมีหลายหน่วยงานที่ร่วมกันรับผิดชอบดูแล คือ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ดูแลตามอำนาจหน้าที่ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ร่วมตรวจตรา/ตรวจติดตามการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆในพื้นที่ มีการส่งเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ใช้พื้นที่ให้เข้าใช้ประโยชน์อย่างเต็มใจเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร ปัจจุบันยังพบกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ได้แก่ การบุกรุกป่าชายเลนเพื่อทำร่องน้ำ การบุกรุกเพื่อทำรีสอร์ทและบ้านพัก ขยะในทะเลพัดขึ้นฝั่ง การสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำน้ำ ร้านอาหารและเรือนำเที่ยวบริเวณปากแม่น้ำ และการสร้างท่าเทียบเรือรุกล้ำลำน้ำ การทำประมงผิดกฎหมายและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง การตัดไม้เพื่อใช้สอย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปลาบางชนิดสูญพันธุ์ เช่น ปลาตะลุมพุก เป็นต้น หากในช่วงที่ผ่านมามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและชุมชนมีความร่วมมือกันสอดส่องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ มีจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และมีการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการพัฒนาของภาครัฐ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ในอนาคต
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ด้วยRamsar site Management Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ในวันพุธที่ 23สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 48 คน (รูปที่ 11และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์ Click