ขอบเขตและที่ตั้ง
พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางจะเกร็ง ตำบลแหลมใหญ่ ตำบลบางแก้ว และตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มีพื้นที่ทั้งหมด 546,875 ไร่ หรือ 87,500 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลที่มีลักษณะทางธรรมชาติที่พบได้ยาก ลักษณะดินเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและตะกอนน้ำทะเลบริเวณปากแม่น้ำแม่กลอง ทำให้แผ่นดินขยายออกไปในทะเล บริเวณพื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลลงไปในทะเลประมาณ 8 กิโลเมตร มีลักษณะผิวพื้นที่ชายฝั่งทะเลราบเรียบ ประกอบด้วยตะกอนโคลนกระจายเต็มพื้นที่ เมื่อน้ำลงจะปรากฏหาดเลนสันดอนทราย กว้างประมาณ 4 กิโลเมตร เนื้อดินเป็นดินโคลนค่อนข้างเหลว มีความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหาร บริเวณหาดเลนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยหลอด (Solen regularis) เป็นเอกลักษณ์สำคัญของพื้นที่ สภาพพื้นที่ชายฝั่งหาดเลนปากแม่น้ำแม่กลองบริเวณนี้มีร่องน้ำใหญ่ 3 ร่อง เกิดเป็นสันดอนทั้งหมด 5 แห่ง การขึ้นลงของน้ำทะเลเป็นแบบน้ำคู่ คือ น้ำขึ้นลงวันละ 2 ครั้ง ในขณะน้ำขึ้นมีทิศทางการไหลไปทางทิศเหนือและในขณะน้ำลงมีทิศทางการไหลไปทางทิศใต้อิทธิพลของกระแสลมทำให้ทิศทางของกระแสน้ำผันแปรไปบ้างเล็กน้อย
สถานภาพทางชีวภาพ
ทรัพยากรป่าไม้ พบพรรณไม้รวม 230 ชนิด จาก 178 สกุล 69 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก เช่น มะม่วง Mangifera indica L. สัตตบรรณ Alstonia scholaris (L.) R.Br. ชมพูพันธุ์ทิพย์ Tabebuia rosea (Bertol.) DC. หูกวาง Terminalia catappa L. ยางนา Dipterocarpus alatus Roxb. ex G.Don ตะเคียนทอง Hopea odorata Roxb. สัก Tectona grandis L.f. ราชพฤกษ์ Cassia fistula L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. และประดู่บ้าน Pterocarpus indica Willd.
พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ จำนวน 1 ชนิด คือ จิกเล Barringtonia asiatica (L.) Kurz
พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. ขี้เหล็กย่าน Mikania cordata (Burm.f.) B.L.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. แมงลักคา Hyptis suaveolens (L.) Poit. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบต้น Mimosa pigra L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. หญ้าขจรจบ Pennisetum polystachyon (L.) Schult. และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 2 จำนวน 2 ชนิด ผักขมหนาม Amaranthus spinosus L. และตะขบฝรั่ง Muntingia calabura L.
ทรัพยากรสัตว์ป่า ปัจจุบันพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของนกอพยพในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นพื้นที่เครือข่ายอนุรักษ์นกอพยพตามโครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกอพยพ และการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกอพยพอย่างยั่งยืน ในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย โดยอยู่กลุ่มพื้นที่ชุ่มน้ำย่อยของพื้นที่ชุ่มน้ำอ่าวไทยตอนใน พบสัตว์ป่าที่ได้รับการจัดสถานภาพตามการจัดของสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Nabhitabhata & Chan-ard 2005) และ IUCN (2017) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีสถานภาพด้านการอนุรักษ์ของสัตว์ป่าที่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การจัดสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 1 ชนิด ได้แก่ ค้างคาวแม่ไก่ภาคกลาง (Pteropus lylei) และนก 6 ชนิด ได้แก่ นกกาน้ำใหญ่ (Phalacrocorax carbo) นกกระสาแดง (Ardea purpurea) นกอ้ายงั่ว (Anhinga melanogaster) นกทะเลขาเขียวลายจุด (Tringa guttifer) นกกาบบัว (Mycteria leucocephala) และนกชายเลนปากชเอน (Eurynorhynchus pygmeus)
ทรัพยากรปลา พบปลาทั้งสิ้น 99 ชนิด จาก 39 วงศ์ ซึ่งเป็นปลาชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ (EN-Endangered species) ได้แก่ ปลากระเบนราหู Himantura chaophraya Monkolprasit and Roberts, 1990 และชนิดที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (VU -Vulnerable species) ได้แก่ ปลาบู่ใส Neostethus bicornis Regan, 1916 นอกจากนั้น ยังมีปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว 2 ชนิด คือ ปลาหมอเทศ Oreochromis mossambicus (Peters, 1852) และปลานิล Oreochromis niloticus (Linnaeus, 1758)
ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน พบปริมาณสัตว์หน้าดินมีความชุกชุมเฉลี่ย 500 ตัวต่อตารางเมตร ปริมาณความชุกชุมมากที่สุดอยู่ในไฟลัม Arthropoda รองลงมา คือ ไฟลัม Mollusca
คุณค่าการใช้ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ชุ่มน้ำได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ได้แก่ เป็นแหล่งอาหารสัตว์น้ำกุ้ง หอย ปู ปลา โดยเฉพาะหอยประเภทต่างๆ เช่น หอยหลอด หอยแครง หอยแมลงภู่จำนวนมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศหลากหลาย ตำบลคลองโคนมีพื้นที่ที่เป็นป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหอยแครง ตำบลบางจะเกร็งและตำบลแหลมใหญ่เป็นพื้นที่หาดเลนเป็นแหล่งจับหอยหลอด และตำบลบางแก้วมีพื้นที่อยู่บริเวณน้ำลึกเป็นแหล่งจับหอยแมลงภู่ พื้นที่โดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำจึงจัดได้ว่าเป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ การใช้ประโยชน์เป็นแหล่งประกอบอาชีพประมงชายฝั่งขนาดเล็ก (รอเคย) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (หอยแมลงภู่ หอยแครง กุ้ง ปลา) และเป็นแหล่งท่องเที่ยว/พักผ่อนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก รวมทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางนิเวศวิทยา ทั้งการค้นคว้าวิจัย ทดลอง และเก็บตัวอย่างเพื่อการศึกษาทางอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา และวิวัฒนาการ ซึ่งผลประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำมีการกระจายไปยังชุมชนโดยรอบอย่างเท่าเทียมกัน ครัวเรือนส่วนใหญ่มีรายได้จากการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด คิดเป็นมูลรวมเท่ากับ 926.21 ล้านบาท/ปี จำแนกเป็นจากการประมง มีมูลค่าเท่ากับ 233.21 ล้านบาท/ปี และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีมูลค่า เท่ากับ 692.99 ล้านบาท/ปี
การจัดการและการคุกคาม
พื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 1099 ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2544
การบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำมีหลายหน่วยงานที่ร่วมกันรับผิดชอบดูแล คือ กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ดูแลตามอำนาจหน้าที่ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ร่วมตรวจตรา ตรวจติดตามการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ ในพื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้เกี่ยวกับความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ มีกฎระเบียบการเข้าใช้พื้นที่ เช่น การปิดอ่าวไทยตัว ก ช่วงวันที่ 15 มิถุนายน ถึง 15 สิงหาคมของทุกปี ประชาชนในท้องถิ่นมีการยอมรับ มีการส่งเสริม สร้างขีดความสามารถของผู้ใช้พื้นที่ให้เข้าใช้ประโยชน์อย่างเต็มใจเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากร เช่น การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ ได้แก่ จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (การนั่งเรือชมป่าชายเลน การปลูกป่าชายเลน และอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชน (การเล่นกระดานเลนเพื่อเก็บหอยแครง) การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนและศูนย์เรียนรู้การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ (ปูแสม) ในพื้นที่หมู่ที่ 10 บ้านบางบ่อล่าง ตำบลบางแก้ว ธนาคารต้นไม้ นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์อย่างชัดเจน เช่น กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูดอนหอยหลอด และกลุ่มประมงอวนลอย เป็นต้น
ปัจจุบันยังพบกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสภาพสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดส่งผลให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากจำนวนคนที่เข้ามาจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น กิจกรรมท่องเที่ยวไปรบกวนแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ (บริเวณที่มีหอยหลอด) รวมทั้งจากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรมโดยรอบ ขณะเดียวกันมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ผิดกฎหมาย เช่น การรุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การก่อสร้างร้านอาหารรุกล้ำตามแนวชายฝั่งทะเล การก่อสร้างถนนและที่จอดรถเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เป็นต้น
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอดด้วยRamsar site Management Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือ หัวหน้าชุมขน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำดอนหอยหลอด ในวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2560 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง ชั้น 2 ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 25 คน (รูปที่ 10และภาคผนวกที่ 5)จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์ Click