พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย

ขอบเขตและที่ตั้ง
        พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียน ตั้งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา ในเขตอำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ทั้งหมด 3,087.5 ไร่ หรือ 494 เฮกตาร์
สถานภาพทางกายภาพ
        พรุควนขี้เสี้ยนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มตั้งอยู่ตอนเหนือของทะเลสาบสงขลา สภาพโดยทั่วไปมีที่ดอนกระจายอยู่ในพื้นที่ ความกว้างของพรุประมาณ 5.26 กิโลเมตร ยาวประมาณ 6.20 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เคยมีสภาพป่าพรุ (พรุไม้เสม็ดขาว) ที่สมบูรณ์มาก่อน พื้นมีกก หญ้ากระจูด กระจูดหนู ขึ้นอยู่หนาแน่น พื้นที่ชุ่มน้ำมีสภาพเป็นป่าพรุน้ำจืดที่มีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี และหนองน้ำระหว่างทะเลน้อยและทะเลหลวง มีแนวเนินทรายธรรมชาติสูงประมาณ 0.5 เมตร กั้นอยู่ มีคลองเชื่อมต่อกับทะเลสาบสงขลา กว้างประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนที่เป็นป่าพรุเสม็ดมีเนื้อที่ประมาณ 429 ตารางกิโลเมตร (268,125 ไร่) พื้นน้ำมีเนื้อที่ประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร (17,500 ไร่) ที่จัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำถาวร น้ำลึก ประมาณ 1.1-1.2 เมตร ต้นน้ำของทะเลน้อยมาจากเทือกเขาบรรทัด ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของทะเลน้อย น้ำไหลออกไปทางคลองนางเรียมและคลองยวนลงสู่ทะเลสาบสงขลา จากสภาพโดยรอบมีการทำการเกษตรกรรมและประมง พื้นที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม จากการเป็นแหล่งน้ำที่ได้รับน้ำทิ้งจากกิจกรรมบางประเภท แต่สามารถเป็นประโยชน์เพื่อการอุตสาหกรรมหรืออุปโภคและบริโภค โดยต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคตามปกติและผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำเป็นพิเศษก่อน

สถานภาพทางชีวภาพ
        ทรัพยากรป่าไม้   ในพื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียน พบพรรณไม้รวม 310 ชนิด จาก 233 สกุล 102 วงศ์ เป็นพรรณไม้ที่นำเข้าไปปลูก 20 ชนิด เช่น มะม่วงหิมพานต์ Anacardium occidentale L. หูกวาง Terminalia catappa L. หางนกยูงฝรั่ง Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf. กระถินณรงค์ Acacia auriculaeformis A.Cunn. ex Benth. สะเดา Azadirachta indica A.Juss. var. siamensis Valeton มะพร้าว Cocos nucifera L. var. nucifera และปาล์มน้ำมัน Elaeis guineensis Jacq.
        พบพืชหายากที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ระดับชาติ 3 ชนิด คือ มะม่วงปาน Mangifera gedebe Miq. นมแมว Uvaria siamensis (Scheff.) L.L.Zhou, Y.C.F.Su & R.M.K.Saurnders และแคน้ำ Dolichandrone columnaris Santisuk
        พบพืชต่างถิ่นที่รุกรานรายการ 1 จำนวน 9 ชนิด ได้แก่ หงอนไก่ไทย Celosia argentea L. สาบเสือ Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. หญ้ายาง Euphorbia heterophylla L. กระถิน Leucaena leucocephala (Lam.) de Wit ไมยราบต้น Mimosa pigra L. จอก Pistia stratiotes L. หญ้าคา Imperata cylindrica (L.) P.Beauv. สาหร่ายหางกระรอก Hydrilla verticillata (L.f.) Royle และผักตบชวา Eichhornia crassipes (Mart.) Solms นอกจากนั้นยังพบ จอกหูหนูยักษ์ Salvinia molesda D.S.Mitch. ซึ่งเป็นพืชต่างถิ่นที่รุกรานนอกบัญชีของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ในแหล่งน้ำในพื้นที่อีกด้วย

        ทรัพยากรสัตว์ป่า    เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกนกน้ำ ปัจจุบันเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ได้รับการจัดเป็นพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก (IBA) ในประเทศไทยอันดับที่ TH056 พบว่า มีสัตว์ป่าที่มีความสำคัญและอยู่ในเกณฑ์วินิจฉัยสำหรับกำหนดพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ประกอบด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 3 ชนิด ได้แก่ เสือปลา (Prionailurus viverrinus ) นากใหญ่ขนเรียบ( Lutrogale perspicillata ) และชะมดแผงสันหางดำ (Viverra megaspila ) สัตว์จำพวกนก 3 ชนิด ได้แก่ นกช้อนหอยขาว (Threskiornis melanocephalus) นกหัวโตมลายู (Charadrius peronii ) และนกตะกรุม(Leptoptilos javanicus) และสัตว์เลื้อยคลาน 6 ชนิด ได้แก่ ตะพาบน้ำ (Amyda cartilaginea) เต่าเหลือง (Indotestudo elongate) เต่าดำ (Siebenrockiella crassicollis) เต่าหับ (Cuora amboinensis) งูกระด้าง(Erpeton tentaculatum) และงูจงอาง (Ophiophagus Hannah)

        ทรัพยากรปลา    พบปลา 95 ชนิด จาก 26 วงศ์ โดยเป็นชนิดที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN-Endangered species) จำนวน 1 ชนิด ได้แก่ ปลาสวาย Pangasianodon hypophthalmus และชนิดที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (VU-Vulnerable species) จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ ปลากะทิ (Cyclocheilichthys heteronema) ปลาซิวข้างขวาน (Trigonostigma heteromorpha) ปลาก้างพระร่วง (Kryptopterus bicirrhis) ปลาดุกด้าน (Clarias batrachus)ปลาดุกอุย (Clarias macrocephalus) ปลาดุกลำพัน (Clarias nieuhofii) ปลากดหัวกบ (Batrachocephalus mino) และปลากระทิงไฟ (Mastacembelus erythrotaenia ) นอกจากนี้พบปลาชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานอีก 2 ชนิด คือ ปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus) และปลานิล (Oreochromis niloticus)

        ทรัพยากรสัตว์หน้าดิน    พบปริมาณของสัตว์หน้าดินทั้งสิ้น 13 ชนิด มีปริมาณความชุกชุมของสัตว์หน้าดินเฉลี่ย 489 ตัวต่อตารางเมตร ไฟลัม Mollusca มีปริมาณความชุกชุมมากที่สุด รองลงมา คือ ไฟลัม Annelida และไฟลัม Arthropoda มีปริมาณความชุกชุมน้อยที่สุด พบชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว 1 ชนิด ได้แก่ Pomacea sp. (หอยเชอรี่)
คุณค่าการใช้ประโยชน์
        เป็นแหล่งธรรมชาติที่มีความหลากหลายของระบบนิเวศ เป็นแหล่งน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำฝน แหล่งรวบรวมพันธุ์พืชและสัตว์ แหล่งของผู้ผลิตในห่วงโซ่อาหาร แหล่งประกอบอาชีพ (ประมงและการท่องเที่ยว) วิถีชีวิตชุมชน ด้านนันทนาการ/การท่องเที่ยว และเป็นแหล่งเรียนรู้/ศึกษาวิจัยทางธรรมชาติ
        ชุมชนรอบพื้นที่ชุ่มน้ำมีอาชีพหลักทำการเกษตรกรรม ได้แก่ ปลูกข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กระจูดประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ อาชีพรองทำหัตถกรรม จักสานกระจูด ประมง และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ การขับเรือนำเที่ยวชมทิวทัศน์ ดูนกในทะเล รวมทั้งการค้าขายในกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ขายของที่ระลึก และร้านอาหาร การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประกอบอาชีพต่าง ๆ ตามความเหมาะสมของลักษณะพื้นที่ที่ชุมชนตั้งถิ่นฐาน
        การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ พรุควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 446.58 ล้านบาท/ปี จำแนกเป็นมูลค่าจากการประมง 253.74 ล้านบาท/ปี การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 30.45 ล้านบาท/ปี การหาของป่า 10.15 ล้านบาท/ปี และการท่องเที่ยว 152.24 ล้านบาท/ปี

การจัดการและการคุกคาม
        พื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เป็นลำดับที่ 948 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการพื้นที่ พื้นที่แรมซาร์ไซต์มีการประกาศอย่างเป็นทางการโดยพื้นที่ได้รับการดูแลคุ้มครองภายใต้กฎระเบียบสำหรับการควบคุมการใช้ที่ดินและกิจกรรมในแรมซาร์ไซต์การบริหารจัดการอยู่ในระดับที่ดี
        การคุกคามพื้นที่พบการคุกคามที่ทำลายคุณค่าต่อพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างรุนแรง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดไฟป่า จากภาวะฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง และน้ำท่วม และการบุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ นอกจากนั้น ยังพบการบุกรุกจากการใช้พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงระบบธรรมชาติจากการก่อสร้างถนนขวางทางน้ำโดยไม่มีการวางท่อระบายน้ำ จากขยะและน้ำเสียชุมชน/อาคารสถานที่ในพื้นที่ จากการเลี้ยงสัตว์/การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ/การจับสัตว์น้ำ/การเก็บพืชท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์จากพืช ปัจจุบันพบว่าการคุกคามมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากการบุกรุกพื้นที่เพื่อการทำร้านค้าและการใช้พื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางการอนุรักษ์
การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        การประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยด้วยRamsar siteManagement Effectiveness Tracking Tool หรือ R-METT และMarine Protected Area Management Effectiveness Assessment Tool หรือ MPA นั้น ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโดยใช้ข้อมูลสำหรับการประเมินจากแหล่งต่างๆเพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมรอบด้าน ได้แก่ ผลการศึกษาสถานภาพและการคุกคามพื้นที่ชุ่มน้ำจากผู้เชี่ยวชาญทรัพยากรแต่ละด้าน และการสัมภาษณ์และสอบถามโดยการใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบบสอบถามจะประกอบด้วย 2 ชุดข้อมูล ได้แก่ ชุดที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินการคุกคามพื้นที่ ซึ่งแบบสอบถามชุดที่ 1 นี้จะใช้สอบถามหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาสำรวจทรัพยากรแต่ละด้าน นักวิชาการ และ/หรือหัวหน้าชุมชน ส่วนแบบสอบถามชุดที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้ประเมินหน่วยงานผู้บริหารจัดการพื้นที่และหน่วยงานผู้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่ และดำเนินการจัดประชุมระดมความเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต่อผลการศึกษาสถานภาพและผลการประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำพรุควนขี้เสียนในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยในวันพุธที่ 13กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมสาธารณสุขอำเภอควนขนุน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอควนขนุน ตำบลควนขนุน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม จำนวน 35 คน (รูปที่ 9และภาคผนวกที่ 5) จากภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชน
แผนการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ
        ขออภัย! เนื่องจากขณะนี้กำลังกำลังปรับปรุงข้อมูลในส่วนนี้อยู่ครับ
คลิกเพื่อ Download File ฉบับสมบูรณ์   Click